วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาตินันทบุรี


ข้อมูลทั่วไป
อุทยาน แห่งชาตินันทบุรีมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเมือง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน มีสภาพป่า ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง เนื้อที่ประมาณ 548 ,125 ไร่ หรือ 877 ตารางกิโลเมตร พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) อย่างรุนแรง เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย ดังปรากฏในสมรภูมิรบที่ลื่อลั่นในอดีตภายใต้ชื่อว่า “ยุทธภูมิที่ดอยผาจิ”


ใน ปี พ.ศ. 2537 สำนักงานป่าไม้จังหวัดน่าน ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้ โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณค่าทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่ยังคงความ อุดมสมบูรณ์ของผืนป่าผืนนี้ จึงมีการเสนอให้มีการสำรวจและจัดตั้งเป็นป่าอนุรักษ์ในรูปของอุทยานแห่งชาติ

กรม ป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1657/2539 ลงวันที่ 5 กันยายน 2539 ให้นายจักรกฤษ เสรีนนท์ชัย เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลรายละเอียดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว-น้ำสวด ป่าสงวนแห่งชาติป่าถ้ำผาตูบ และบริเวณพื้นที่ป่าใกล้เคียง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

ผลการสำรวจ พบว่า พื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว-น้ำสวด ในท้องที่ตำบลตาลชุม ตำบลศรีภูมิ ตำบลแสนทอง ตำบลผาทอง ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา ตำบลบ่อ ตำบลเรือง ตำบลสะเนียน ตำบลสวก ตำบลถืมตอง ตำบลไชยสถาน ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง และตำบลบ้านพี้ ตำบลป่าคาหลวง ตำบลบ้านฟ้า ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน มีศักยภาพที่เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 548,125 ไร่ พื้นที่ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์มีความหลากหลาย ทางชีวภาพ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ปัจจุบันอุทยานแห่งชาตินันทบุรีกำลังอยู่ในขั้นตอนระหว่างการดำเนินการ ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ



ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยาน แห่งชาตินันทบุรีมีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และเขตอำเภอปง จังหวัดพะเยา ทิศใต้จดเขตอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ทิศตะวันออกจดทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1080 ( น่าน-ทุ่งช้าง) ทิศตะวันตกจดเขตอำเภอเชียงม่วง จังหวัดพะเยา เขตพื้นที่สำรวจจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ดอยภูนาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง จังหวัดพะเยา ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนวางตัวในแนวเหนือใต้ อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดน่าน จนไปจดประเทศลาว ระดับความสูงของพื้นที่ประมาณ 300-1,674 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ “ยอดดอยวาว” ความสูง 1,674 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะของหิน ส่วนใหญ่เป็นหินที่เกิดในมหายุค Mesozoic Paleozoic และ Neozoic ซึ่งส่วนใหญ่คือ หินตะกอน มีอายุอยู่ในหลายช่วงอายุด้วยกัน นอกจากนี้เป็นหินภูเขาไฟ และหินก่อนหินภูเขาไฟบ้างประปรายกระจายในพื้นที่ เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสายซึ่งเป็นลำห้วยที่คอยหล่อเลี้ยงลำน้ำน่าน และลำน้ำยม ได้แก่ ลำน้ำสมุน ลำน้ำสะเนียน ลำน้ำวาว ลำน้ำยาว ลำน้ำพี้ ลำน้ำตึม ลำน้ำสีพัน ลำน้ำไสล ลำน้ำระพี และลำน้ำคาง เป็นต้น



ลักษณะภูมิอากาศ
เป็น แบบมรสุมเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงฤดูฝนและมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีต่ำสุดประมาณ 8 องศาเซสเซียล สูงสุดประมาณ 41 องศาเซสเซียล ประมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,198 มิลลิเมตร

   

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ลักษณะ ทั่วไปของพื้นที่ปกคลุมด้วยป่าเบญจพรรณทางด้านตะวันตก และป่าดิบแล้งทางด้านตะวันตกและเหนือ มีป่าดิบเขาอยู่บ้างตามยอดเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตร นอกจากนั้นยังมีป่าเต็งรัง ป่าเขาหินปูน และทุ่งหญ้า ชนิดพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบในแต่ละชนิดป่าได้แก่ ป่าเบญจพรรณ เช่น สัก มะค่าโมง ซ้อ สมอพิเภก ตะเคียนหนู ไผ่ซาง ไผ่บง ไผ่ไร่ และไผ่ข้าวหลาม ป่าดิบแล้ง เช่น ยางแดง ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง คอแลน มะม่วงป่า เก็ดดำ จอแจ หมามุ่ย หวายขม และเครือออน ป่าดิบเขา เช่น ทะโล้ พญาไม้ กำลังเสือโคร่ง ก่อแดง กฤษณา กุหลาบขาว เมี่ยงหลวง โคลงเคลงขน กุหลาบหิน และกระชาย ป่าเต็งรัง เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง ไผ่เพ็ก เป้ง เปราะป่า และส้มกั้ง บริเวณ ทุ่งหญ้า พบประดู่ สีเสียดเหนือ มะสัง หญ้าคา และหญ้าปากควาย ในบริเวณที่เป็น แหล่งน้ำ พบแพงพวยน้ำ สาหร่ายหางกระรอก หญ้าแห้วหมู จอกหูหนู และไข่น้ำ เป็นต้น

 

ชนิด ของสัตว์ป่าที่พบในอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ได้แก่ เก้ง หมาไม้ ลิงกัง ลิงวอก อีเห็นข้างหลาย อ้นเล็ก ลิ่น บ่าง กระต่ายป่า กระรอกปลายหางดำ ค้างคาวลูกหนูถ้ำ หนูผีนา เหยี่ยวนกเขาหงอน นกเปล้าหน้าเหลือง นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกปรอดเหลืองหัวจุก นกแซงแซวหงอนขน นกขุนทอง เต่าเหลือง เต่าปูลู ตะกวด แย้ งูหลาม งูสิง จิ้งเหลนหางยาว กิ้งก่าบินคอแดง ปาดแคระขาเขียว อึ่งปากขวด กบทูด เขียดจะนา คางคกหัวราบ ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อถุงทองป่าสูง และผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู เป็นต้น สำหรับในบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำพบสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ได้แก่ ปลาซิวหนวดยาว ปลาตะเพียนขาว ปลาไหลนา ปลาดุกอุย ปลาหมอตาล หอยกาบน้ำจืด หอยขม หอยโข่ง และกุ้งฝอยใน เป็นต้น

   

แหล่งท่องเที่ยว

น้ำตกสันติสุข   เป็นน้ำตกขนาดเล็ก-ขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสูงประมาณ 5 ชั้น ชั้นสูงสุดประมาณ 10 เมตร ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

น้ำตกสองแคว   เป็นน้ำตกขนาดเล็ก แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าดิบแล้งที่มีความอุดมสมบูรณ์ บรรยากาศโดยรอบน้ำตกร่มรื่นมาก น้ำตกตั้งอยู่ในท้องที่บ้านสองแคว ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

น้ำตกห้วยพริก   เป็นน้ำตกขนาดเล็ก-กลาง มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสูงประมาณ 4 ชั้น มีโตรกธาร โขดหินและเพิงพา มีความสวยงาม ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านพี้ อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน

น้ำตกตาดฟ้าร้อง   ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ประกอบด้วยน้ำตกชั้นใหญ่ จำนวน 3 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จากเทือกเขาดอยวาวอยู่ห่างจากบริเวณบ่อน้ำพุร้อนประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ที่บ้านน้ำกิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

น้ำตกดอยหมอก   เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสวยงามและเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อน เล่นน้ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

บ่อน้ำพุร้อนบ้านน้ำกิ   ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำกิ ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีความร้อน ประมาณ 80 องศาเซลเซียส มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับอาบน้ำแร่ในอนาคต

ถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าผีตองเหลือง   ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่า ที่ชนเผ่าตองเหลือง (มาบลี) ใช้เป็นสถานที่ในการดำรงชีพและใช้ชีวิตป่าเร่ร่อนไปมา อยู่ท้องที่อำเภอบ้านหลวง และอำเภอท่าวังผา ชนเผ่าตองเหลืองกลุ่มนี้ ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม โดยมิได้รบกวนต่อการทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพราะมิได้ทำการเพาะปลูกอาศัยแต่เพียงหัวเผือก หัวมัน และน้ำผึ้ง ที่อยู่อาศัยของชนเผ่าตองเหลือง มักทำจากวัสดุที่หาได้ง่าย ส่วนหนึ่งคือใบตองกล้วย กล่าวกันว่า เมื่อใบตองที่มุงเป็นเพิงพักเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ชนเผ่าตองเหลืองก็จะทำการเคลื่อนย้ายไปดำรงชีวิตในที่ใหม่

เส้นทางยุทธศาสตร์และถ้ำดอยผาจิ   เป็นเส้นทางและฐานบัญชาการในการต่อสู้ตามความขัดแย้งลัทธิทางการเมืองใน อดีต ของ “ยุทธภูมิดอยผาจิ” สามารถพัฒนาเป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวได้ในอนาคต

เทือกเขาหินปูน ถ้ำผาตูบ และหนองน้ำน่าน   เป็นเทือกเขาหินปูนที่ประกอบด้วยถ้ำต่างๆ ที่มีความสวยงาม ประกอบด้วยพันธุ์พืชเขาหินปูนและพันธุ์พืชที่ลุ่มต่ำที่หายาก ตั้งอยู่ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

ดอยผาจิและดอยผาช้าง   จุดชมทิวทัศน์ตั้งอยู่บนสันดอยติ้วในบริเวณเดียวกับที่ตั้งของที่ทำการ อุทยานแห่งชาติ ทิวทัศน์ในยามเย็นจะมองเห็นดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าท่ามกลางขุนเขาสลับซับซ้อน และยามเช้าในช่วงฤดูหนาว จะปรากฏทะเลหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณ การเดินทางจากอำเภอท่าวังผา ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1082 สายท่าวังผา-สบขุ่น ไปประมาณ 27 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าไปประมาณ 500 เมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

ยอดดอยวาว   เป็นยอดดอยที่มีสูง 1,674 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นจุดสูงสุดของอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ยอดดอยวาว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปอีกราว 4 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไปถึงหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำคาง แล้วเดินเท้าขึ้นสู่ยอดดอย ตลอดเส้นทางเป็นป่าดิบเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นอาศัยของนกบนที่สูงนานาชนิด เช่น นกมุ่นรกตาแดง นกหางรำหางยาว นกติ๊ดแก้มเหลือง นกเสือแมลงปีกแดง นกระวังไพรปากแดงยาว ฯลฯ ที่นี่จึงเหมาะสำหรับการเดินดูนกและศึกษาธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว จะมีนกย้ายถิ่นเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งหลายชนิดเป็นนกหายาก โดยเฉพาะพวกนกจับแมลงและนกเดินดง เช่น นกจับแมลงแถบคอสีส้ม นกจับแมลงหลังสีเทา นกเดินดงอกดำ นกเดินดงลายเสือ ฯลฯ

โบราณสถานภูเขาเขียว   เป็นเจดีย์ทรงโบราณ ตั้งอยุ่บนยอดเขาในท้องที่ตำบลบ้านพี้ อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน

อ่างเก็บน้ำห้วยสีพัน   เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน


จุดเด่นที่น่าสนใจ
อุทยาน แห่งชาตินันทบุรี มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงวางตัวแนวเหนือใต้อากาศเย็นสบายตลอดปี มีน้ำตก บ่อน้ำพุร้อน ถ้ำ เพิงผา และจุดชมวิวของทะเลหมอก และพระอาทิตย์ขึ้น - ตก ทางด้านประวัติศาสตร์ เคยเป็รสถานที่ต่อสู้บนความขัดแย้งทางการเมืองที่เรียกว่า "ยุทธภูมิที่ดอยผาจิ" นอกจากนี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าตองเหลือง วัฒนธรรมชาวเขาเผ่าเย้า และชาวพื้นเมืองไทยลื้อ ซึ่งมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของเมืองน่านดั้งเดิม เช่น การแต่งกาย การทอผ้า เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวชมอุทยานได้ตลอดทั้งปี โดยมีกิจกรรมมากมายให้ท่านเลือก อาทิ เที่ยวชมน้ำตก ส่องสัตว์ ปีนเขา ไต่เขา ศึกษาธรรมชาติ หรือเที่ยวถ้ำ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น