วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บ้านสะจุก – สะเกี้ยง คนกับป่าอาศัยเกื้อกูลกัน

มนต์เมืองน่าน “บ้านสะจุก – สะเกี้ยง” คนกับป่าอาศัยเกื้อกูลกัน

ทัศนียภาพขุนเขาของพื้นที่บ้านสะจุก -สะเกี้ยง

“คนอยู่คู่กับป่าอย่างเกื้อกูลกัน”
“เร่งฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำบริเวณยอดดอยขุนน่าน ให้มีความสมบูรณ์ดังเดิม”
“จ้างราษฎรในพื้นที่มาฝึกปฏิบัติงานในสถานีฯ แล้วนำไปขยายผลทำในพื้นที่ของตนเอง”
นี่คือแนวพระราชดำริที่องค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานให้เป็นแนวทางในการจัดทำ “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง” ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านสะจุกหมู่ที่ 7 และบ้านสะเกี้ยง หมู่ที่ 8 ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน มีพื้นที่จำนวน 500 ไร่ และโครงการคลอบคลุมพื้นที่ 37,939ไร่

สภาพของหมู่บ้านสะจุก-สะเกี้ยง
เมื่ออดีตหมู่บ้านสะจุก-สะเกี้ยง มีสภาพของแหล่งทำมาหากินที่เสื่อมโทรม มีการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา
เผ่าลัวะ และมีคนพื้นเมืองอาศัยอยู่บางส่วน ส่วนใหญ่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียน และรับจ้าง นับถือผี และชาวบ้านมากกว่าครึ่งไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้
       เรียกได้ว่าสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไม่ดีนัก มีรายต่ำ แต่เมื่อมีโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริฯ เข้ามาช่วยเหลือ และส่งเสริมการทำเกษตร การทำปศุสัตว์ ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีผลผลิตที่ดี ส่งผลให้มีรายได้สูงขึ้น สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้สบาย
     
จากการบุกลุกทำลายป่า สู่การพัฒนาพื้นที่การเกษตร
      
       ชิด ชนก สุขมงคล หัวหน้าโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ได้บอกเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของ “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก - สะเกี้ยง” ว่าเกิดขึ้นมาจากการที่เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านสะจุก หมู่ที่ 7 และบ้านสะเกี้ยง หมู่ที่ 8 ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ผาแดง และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน ทรงพบว่ามีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้เป็นจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ขึ้นเป็นโครงการพระราชดำริแห่งที่ 3 ที่ทรงพระราชทานให้แก่จังหวัดน่าน

ทุ่งนาขั้นบันได

       ”เมื่อก่อนชาวบ้านเผ่าลัวะ มีการทำนากันมาอยู่แล้ว แต่เป็นการทำนาข้าวแบบกระทุ้งหยอดแบบเดิม ผลผลิตของข้าวที่ได้ต่ำ ปลูกแล้วไม่พอกินเอง ต้องไปซื้อข้าวจากที่อื่น และการทำนาแบบนี้ก็ไม่สร้างรายได้มากนัก จนกระทั่งเมื่อโครงการฯ ได้เข้ามา ก็ทำการช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำนาแบบขั้นบันไดแทน ซึ่งเหมาะกับสภาพของพื้นที่ที่เป็นภูเขา ซึ่งการทำนาแบบขั้นบันได คือการสกัดไหล่เขาให้เป็นชั้นๆลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได เพื่อช่วยเพิ่มเนื้อที่ในการเพาะปลูก เป็นการรักษาหน้าดินไม่ให้ถูกชะล้างไป และช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำ” ชิดชนก บอก

       ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง มีรายได้มากขึ้น
      
       สมบูรณ์ บัวเหล็ก อายุ 37 ปี เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะที่ตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่บ้านสะจุก-สะเกี้ยงมา นมนาน ได้บอกเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่มีโครงการพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริฯ นี้ขึ้นมาทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเมื่ออดีตเป็นอย่างมาก

นาขั้นบันไดปลูกตามพื้นที่ไหล่เขา

       “ทุกวันนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นมาก เมื่อก่อนทำไร่แบบเลื่อนลอยมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายาย และทำมาตลอด จนกระทั่งเมือปี 47 ก็ได้หันมาทำนาแบบขั้นบันได เพราะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น การทำนาแบบนี้ไม่ยาก ทีแรกก็เตรียมพื้นที่ของเราที่เป็นแบบเนินภูเขา แล้วขุดดินลงไป และก็เอาก้อนหินมาคั่นให้เป็นคันนา พันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกเป็นข้าวไร่ การปลูกข้าวที่นี่เก็บเกี่ยวแค่ปีละครั้งเท่านั้น ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในโครงการพระราชดำริฯ ก็ได้ผลลิตที่ดี มีรายได้ดีขึ้นมาก” สมบูรณ์ บอกด้วยรอยยิ้ม

การส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงเป็ด

       และ นอกจากการหันมาทำนาแบบขั้นบันไดแล้ว ทางโครงการพระราชดำริฯ ยังได้แนะนำให้สมบูรณ์หันมาปลูกผักขาย และเลี้ยงสัตว์อย่างหมู ไก่ และเป็ด เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งคุณสมบูรณ์ได้พูดถึงความในใจที่มีต่อโครงการพระราชดำริฯ ขององค์สมเด็จพระราชินีที่หยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้ชาวบ้านเผ่าลัวะอย่าง พวกเขาว่า
      
       “รู้สึกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัวได้ ไม่ต้องไปทำเลื่อนลอยอีกแล้ว” คำพูดอันซาบซึ้งจากใจของสมบูรณ์

สตรอเบอร์รี่ก็มีปลูก

       พัฒนาในหลายๆ ด้านเพื่อวิถีชีวิตที่ดีของชาวบ้าน
      
       หัวหน้าโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ได้บอกกล่าวอีกว่า นอกจากการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาทำนาแบบขั้นบันได ที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ และได้ผลผลิตของข้าวสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากขึ้นแล้ว ยังได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักเมืองหนาว อย่างเช่น สตรอเบอร์รี่ ปลูกต้นหม่อน และปลูกผักปลอดสารพิษ โดยแนะนำให้ปลูกผักหลังการทำนา เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

การปลูกพืชผักเป็นอีกหนึ่งการเพิ่มรายได้

       อีก ทั้งยังได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำปศุสัตว์อื่นๆ อีกด้วย อย่างเช่น มีการนำเป็ด แกะ และแพะมาเลี้ยงในโครงการฯ ก่อน แล้วก็ทำการส่งเสริมและให้สัตว์เหล่านี้แก่ชาวบ้าน เพื่อนำไปเลี้ยงในพื้นที่ของตัวเอง เป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

แกะก็นำมาเลี้ยงและส่งเสริมให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงด้วย

       และมีการสนับสนุนให้ทำการประมง โดยมีการสำรวจรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ เพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์แล้วนำกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมพันธุ์ปลากินพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้แก่ชาวบ้านที่ สนใจ เพื่อนำไปเลี้ยง โดยแนะนำให้ขุดบ่อเลี้ยงปลา เป็นบ่อดินขนาด 4 x 6 เมตร เพื่อเลี้ยงปลาไว้กินเอง หรือไว้จำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

แพะอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่นำมาเลี้ยงในโครงการฯ

       กล่าว ได้ว่าเมื่อมี “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง” ขึ้น ทำให้ชาวบ้านเผ่าลัวะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ที่ดีขึ้นมาก และสภาพภูมิประเทศของยอดดอยขุนน่าน ก็กลับฟื้นคืนสภาพจากที่เคยเสื่อมโทรมเพราะการบุกรุกทำลายป่า ก็ฟื้นคืนสภาพมีความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้และต้นน้ำลำธาร ทำให้ทุกวันนี้บ้านสะจุก-สะเกี้ยง มีทัศนียภาพที่งดงาม มีนาขั้นบันไดที่สวยงาม เชิญชวนให้มาท่องเที่ยวศึกษา

ข้าวไร่ออกรวง

       ซึ่ง หากใครเป็นผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเหมือนเช่นกลุ่มสห+ภาพ ชุมชนคนถ่ายภาพ ก็สามารถเดินทางมาเก็บภาพความสวยงามของนาขั้นบันไดอันเขียวขจีกันได้ พร้อมกับจะได้เรียนรู้การดำเนินวิถีชีวิตที่พอเพียง แบบอาศัยเกื้อกูลกันระหว่างคนกับป่า อย่างที่ชาวบ้านสะจุก –สะเกี้ยง ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น