ภาพบันไดหอคำ คุ้มหลวง
|
คุ้มเจ้านายที่ยังเหลืออยู่
อาคารหอคำ คุ้มหลวงเมืองน่าน
อาคารหอคำในปัจจุบันเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นแบบตรีมุขรูปแบบผสมผสาน ระหว่างศิลปะไทยและศิลปะตะวันตก โครงสร้างภายในเป็นไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2446 ได้สร้างขึ้นแทนหลังเดิมที่เป็นเรือนไม้สักผสมไม้ตะเคียน เป็นอาคารรวม 7 หลังของพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชฯ โดยสร้างตรงบริเวณคุ้มเดิม ลักษณะหอคำเป็นอาคารทรงไทยผสมศิลปะตะวันตก แบบตรีมุข 2 ชั้น มุขหน้าหันไปทิศตะวันออกตรงกับแม่น้ำน่าน ตัวอาคารก่ออิฐฉาบด้วยปูน บานประตูหน้าต่างเป็นบานเกล็ด หลังคาเป็นทรงจั่ว มุงด้วยแป้นเกล็ด มีชั้นลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันด้านหน้าเป็นรูป "ตราโคอุศุภราช" อันเป็นตราประจำเมืองน่านที่ใช้ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ส่วนหน้าบันอื่นทั้ง 3 ด้าน สลักลวดลายเป็นรูปพญานาครา 2 ตัวเกี้ยวกวัด โดยให้ส่วนหางขดเป็นวงกลมสลักโคอยู่ตรงกลาง (รูปโคเป็นสัญลักษณ์แทน สมณโคดมองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยนัยหมายถึงจังหวัดน่านได้ยกย่องให้พระพุทธศาสนาเป็นหลักชัยของเมือง) มีบันไดทางขึ้นด้านข้างสองด้าน ล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐทึบสี่ด้าน กำแพงด้านหน้าอยู่บริเวณหลังต้นโพธิ์ อันเป็นที่ตั้งของวัดน้อย มีศาลารายยาวตลอดแนวกำแพง ประตูทางเข้าเป็นซุ้มเรือนยอด เจ้าราชดนัย(เจ้าน้อยยอดฟ้า), โอรสองค์เล็กของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นสถาปนิกออกแบบ
หอคำ คุ้มหลวงในอดีต ด้านหน้าเป็นข่วงเมือง
|
หอคำ คุ้มหลวงปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์น่าน
|
ปีพ.ศ.2532 หอคำ(อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสาธารณะ
ปี พ.ศ.2546 จังหวัดน่าน กำหนดให้หอคำ เป็นศูนย์กลางของพื้นที่เมืองประวัติศาสตร์ชั้นใน (หัวแหวนเมืองน่าน) ตามประกาศจังหวัดน่าน เรื่องกำหนดขอบเขตพื้นที่ เมืองประวัติศาสตร์ชั้นใน (หัวแหวนเมืองน่าน) ลงวันที่ 13 มกราคม 2546 เพื่อคุ้มครองโบราณสถาน อาคารประวัติศาสตร์ รวมทั้งปกป้องภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม อันเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองน่าน ให้คงอยู่เป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป
บริเวณหอคำ คุ้มหลวงเดิม
|
ตัวอาคารหอคำ คุ้มหลวงเดิม
|
คุ้มเจ้าราชบุตร หรือโฮงเจ้าราชบุตร (โฮง หมายถึง โรงเรือน ที่อยู่อาศัยของเจ้านายและบุตรหลาน) ตั้งอยู่หัวมุมระหว่างถนนผากองกับถนนมหาพรหม ด้านทิศเหนือของวัดช้างค้ำสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2409 เพื่อเป็นที่อยู่ของเจ้าน้อยมหาพรหม ณ น่าน (เจ้ามหาพรหมสุรธาดา) และเจ้าหญิงศรีโสภา ต่อมาเมื่อได้รับสถาปนาเป็นมหาอำมาตย์โท และนายพลตรี เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 64 จึงยกคุ้มแห่งนี้ให้บุตรชายคือ เจ้าประพันธุ์พงศ์ (เจ้าน้อยหมอกฟ้า ณ น่าน) และให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าราชบุตร ในปี พ.ศ. 2468 หลังจากเจ้าราชบุตร (เจ้าหมอกฟ้า ณ น่าน) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2501 คุ้มแห่งนี้จึงตกทอดแก่ทายาทคือ เจ้าโคมทอง ณ น่าน
คุ้มเจ้าราชบุตร จังหวัดน่าน
|
คุ้มเจ้าราชบุตร จังหวัดน่าน
|
คุ้มเจ้าราชบุตรน่าน ปัจจุบันยังคงสภาพเดิม
|
คุ้มเจ้าราชบุตรน่าน ปัจจุบันยังคงสภาพเดิม
|
ตั้งอยู่ที่ถนน มหาพรหม ด้านทิศตะวันตกของคุ้มหลวง (หอคำ) เดิมเป็นที่พำนักของเจ้าเทพมาลา ธิดาคนที่ 1 ของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ กับแม่เจ้ายอดหล้า ต่อมาขายให้กับเจ้าบุญศรี เมืองชัย น้องชายแม่เจ้าบุญโสม ณ น่าน ชายาเจ้าราชบุตร(หมอกฟ้า ณ น่าน)
ปัจจุบัน เป็นที่พำนักของทายาทเจ้าบุญศรี เมืองชัย
คุ้มเจ้าเทพมาลา จังหวัดน่าน
|
คุ้มเจ้าเทพมาลา จังหวัดน่าน
|
ตั้งอยู่ที่ถนน มหาพรหม ด้านทิศเหนือของคุ้มหลวง(หอคำ) พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ โปรดให้สร้างคุ้มแห่งนี้ในปี พ.ศ.2459 เพื่อเป็นที่อยู่ของบุตร-ธิดา ได้แก่ เจ้าเทพมาลา เจ้าเทพเกษร เจ้าอนุแสงสี เจ้าจันทร์ทองดี เจ้าสุภาวดี ลักษณะคุ้มเป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะตะวันตก ภายหลังตกเป็นสมบัติของเจ้าจันทร์ทองดี ซึ่งได้สมรสกับเจ้าราชยาท(ชงคะวาล)
คุ้มเจ้าจันทร์ทองดี จังหวัดน่าน
|
ปัจจุบันเป็นสำนักงานที่ดินน่าน
|
หลังจากที่เจ้าจันทร์ทองดีถึงแก่กรรม เจ้าสมสมัย วุฒิสอน (ณ น่าน) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมได้ขายอาคารพร้อมที่ดิน ให้แก่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2504 และใช้เป็นสำนักงานที่ดินจังหวัดน่านเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2525 จึงได้ย้ายมาใช้อาคารสำนักงานที่ดินปัจจุบัน ซึ่งสร้างอยู่หน้าคุ้มและได้บูรณะซ่อมแซมคุ้มในปี พ.ศ.2534
อาคารคุ้มเจ้าจันทร์ทองดี จังหวัดน่านในปัจจุบัน
|
อาคารคุ้มเจ้าจันทร์ทองดี จังหวัดน่านในปัจจุบัน
|
ตั้งอยู่ที่ถนนมหายศ ด้านหลังโรงแรมเทวราช มีอายุประมาณ 90-100 ปี สร้างขึ้นเพื่อเป็นเรือนหอของเจ้าหลและเจ้าเมฆวดี ณ น่าน ตัวบ้านสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคามุงด้วยแป้นเกร็ดไม้ เดิมบ้านมีใต้ถุนสูงแต่เจ้ามอญแก้วได้ปรับบริเวณ ใต้ถุน โดยก่อพื้นบ้านสำหรับเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ตัวเรือนชานจากไม้มาเป็นคอนกรีต เนื่องจากมีสภาพผุพัง หลังคาเปลี่ยนมาเป็นมุงสังกะสี
ปัจจุบันตกทอดแก่คุณอมรรัตน์ หุ่นนวล(ณ น่าน) ซึ่งเป็นธิดาของเจ้ามอญแก้ว (ธิดาเจ้าเมฆวดี)
คุ้มเจ้าเมฆวดี จังหวัดน่าน
|
ตั้งอยู่ถนนมหาวงศ์ ติดกับโรงเรียนซินจง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497 โดยรองอำมาตย์ตรีเสงี่ยม สงวนศรีและเจ้าบัวเขียว สงวนศรี(มหายศนันท์) ออกแบบและสร้างโดยขุนนันพานิชย์ (ช่างผู้มีฝีมือในสมัยนั้น) ตัวบ้านทั้งหลังทำด้วยไม้สัก ประกอบด้วย 3 ส่วนแยกออกจากกัน อย่างเป็นสัดส่วน คือ เรือนครัว ยุ้งข้าวและตัวบ้าน โดยมีเรือนชานเชื่อมไปหาส่วนต่างๆ ภายในบ้าน หลังคามุงด้วยแป้นเกร็ดทำจากไม้สัก ตั้งแต่สร้างบ้านมามีการปรับปรุงเฉพาะส่วนหลังคาเนื่องจากไม้ผุพัง จึงมุงด้วยสังกะสีแทน ส่วนยุ้งข้าวได้ปรับมาเป็นห้องนอน
ปัจจุบันคือบ้านเลขที่ 93 ถนนมหาวงศ์ ติดกับโรงเรียนซินจง ตรงข้ามไปรษณีย์จังหวัดน่าน เจ้าของบ้านคืออาจารย์บุญงำ สงวนศรี(ลูกสาว) อายุ 90 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศรีน่าน ตัวบ้านได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดี โดยเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาในปี 2521 และได้ปรับเล้าข้วเป็นห้องสำหรับใช้งานและปรับชานบ้านเป็นโถง
คุ้มเจ้าบัวเขียว จังหวัดน่าน
|
คุ้มเจ้าบัวเขียว จังหวัดน่าน
|
ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงษ์ ตรงสี่แยกวัดศรีพันต้น เดิมเป็นที่อยู่ของเจ้าทองย่น (น้องเจ้าฟองคำ)
ปัจจุบัน นางอดิศรัย วิเศษวัตร เป็นเจ้าของ
คุ้มเจ้าทองย่น จังหวัดน่าน
|
โฮงเจ้าฟองคำ
ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดพระเกิด เดิมเป็นคุ้มของเจ้าศรีตุมมา หลานเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 61 แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ ตั้งอยู่ติดับคุ้มแก้ว ที่ำพำนักของเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือ เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ย้ายกลับมายังเมืองน่านปัจจุบัน คุ้มแก้วจึงถูกทิ้งร้างไว้
โฮงเจ้าฟองคำ จังหวัดน่าน ในอดีต
|
โฮงเจ้าฟองคำ จังหวัดน่าน ในปัจจุบัน
|
ตัวโฮงหรือตัวเรือนนี้เดิมหลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ต่อมาในปีพ.ศ.2467 ได้รื้อออกแล้วมุงกระเบื้องดินขอแทน ส่วนโครงสร้างอื่นๆ ใช้วัสดุเดิมเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะตัวเรือนบางส่วนได้รับการดัดแปลง
ต่อมา ได้ย้ายตัวโฮงลงมาสร้างในที่ปัจจุบัน และตกทอดมายังเจ้าฟองคำ ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะนางวิสิทฐศรี ธิดาคนสุดท้องของเจ้าฟองคำ กับนายถวิล คงจ่าง และนายมณฑล คงกระจ่างตามลำดับ
บ้านคุณหลวง
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดภูมินทร์เดิมเป็นบ้านที่เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ได้ให้ช่างสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่อยู่ของธิดาทางกรุงเทพฯ ได้ส่งอำมาตย์ตรีหลวง ธนานุสร (ช่วง โลหะโชติ) มาเป็นคลังจังหวัดคนแรกของน่าน เนื่องจากเป็นชาวพิษณุโลกเมื่อมาถึงจึงได้ขอซื้อบ้านและที่ดินนี้จากเจ้าสุ ริยพงษ์ผริตเดชฯ
บ้านคุณหลวง จังหวัดน่าน ในอดีต
|
บ้านคุณหลวง จังหวัดน่าน ในปัจจุบัน
|
คุณหลวงทำกิจการยาสูบเมื่อปีพ.ศ.2490 จนถึงปัจจุบัน ลูกหลานได้สืบทอดกิจการเรื่อยมา
บ้านคุณหลวง จังหวัดน่าน ในปัจจุบัน
|
เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงทรงปั้นหยาหลังคา สังกะสีเดิมเป็นอาคารพยาบาลของกองกำกับการ ตำรวจ ปัจจุบันใช้เป็นหอประชุมตำรวจภูธร จังหวัดน่าน มีการเปลี่ยนแปลงด้านในอาคารเป็นห้องประชุม และด้านล่างดัดแปลงเป็นห้องทำงาน
เฮือนเจ้าหมอกฟ้า ปัจจุบันเป็นหอประชุมตำรวจภูธร จังหวัดน่าน
|
บริเวณที่เคยเป็นคุ้มเจ้านายมาก่อน (ปัจจุบันไม่หลงเหลือแล้ว)
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (ขัติยศ ณ น่าน) โอรสเจ้ามหาพรหมสุรธาดากับเจ้าหญิงศรีโสภา แรกสุดตั้งอยู่บริเวณบ้านนายสมชาย โลหะโชติ ในปัจจุบัน (ด้านทิศใต้ของคุ้มหลวง) ต่อมาขายที่ดินเพื่อสร้างโรงบ่มใบยา จึงย้ายไปสร้างคุ้ม ติดกับคุ้มเจ้าเทพมาลา ในเวลาต่อมา ทายาทขายที่ดินให้แก่คลังจังหวัดทำเป็นบ้านพัก ภายหลังบริษัทเดินอากาศไทยจำกัด (บริษัทการบินไทย จำกัด มหาชน) ซื้อที่ดินต่อเพื่อสร้างสำนักงานในจังหวัดน่าน
คุ้มเจ้าบัวเขียว
ตั้งอยู่ที่ถนนผากอง ตรงข้ามวัดภูมินทร์ เป็นที่พำนักของเจ้าบัวเขียว ณ น่าน ธิดาของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ต่อมาทายาทขายให้นายธนา โลหะโชติ ปัจจุบันถูกดัดแปลงไปมาก
คุ้มเจ้าเกี๋ยงคำ
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน เดิมเป็นคุ้มเจ้าเกี๋ยงคำ ธิดาพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ กับแม่เจ้าคำเกี้ยว ต่อมาตกทอดแกเจ้าต่อมแก้ว ณ น่าน และขายให้กับเจ้าราชบุตร ภายหลังเจ้าราชบุตรรื้อคุ้มแห่งนี้ออกเพื่อสร้างอาคารบัวมัน ณ น่าน เพื่อใช้เป็นสุขศาลาอุิทิศให้กับเจ้าบัวมันผู้เป็นธิดา ต่อมาอาคารบัวมันถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน
คุ้มเจ้ายอดมโนรา
ปัจจุบันคือบริเวณภัตตาคาร และสถานบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ เดิมเป็นคุ้มของเจ้ายอดมโนรา น้องสาวเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ต่อมายกให้กับเจ้าบัวเขียว และเจ้าราชวงศ์ (เจ้าสิทธิสาร ณ น่าน) และตกทอดแก่ทายาทคือ เจ้าบุญตุ้ม มหาวงศนันท์ ภายหลังเจ้านิรมิต สิริสุขะ ธิดาเจ้าบุญตุ้มขายให้เอกชน
คุ้มเจ้ายศ ณ น่าน
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดน่าน ถนนสุมนเทวราช เดิมเป็นคุ้มของเจ้ายศ ณ น่าน บุตรพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ และเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชานุบาลมาก่อน
คุ้มเจ้าราชดนัย
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารศาลจังหวัดน่าน เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งคุ้มเจ้าราชดนัย (เจ้าน้อยยอดฟ้า) โอรสองค์ที่ 12 ของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ กับแม่เจ้ายอดหล้า ต่อมาตกเป็นของธิดาคือเจ้าสร้อยฟ้า ภายหลังขายให้กระทรวงยุติธรรม
คุ้มเจ้าบัวแว่น
ปัจจุบันคือสถานบริการนำ้มันเชลส์ ถนนผากอง เดิมเป็นคุ้มเจ้าบัวแว่น ธิดาของพระเจ้าสุิริยพงษ์ผริตเดชฯ ต่อมาตกทอดแก่ทายาทคือ เจ้ามอญดอกไม้ ภายหลังขายให้กับเจ้าจำรัส มหาวงศนันท์ และขายต่อให้เอกชน
คุ้มเจ้าสุริยวงศ์
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าดีเบส เดิมเป็นคุ้มเจ้าสุริยวงศ์ โอรสเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ต่อมาตกทอดแก่ทายาทคือให้เจ้าบุญผาย แล้วขายให้เอกชน
ผังที่ตั้งคุ้มเจ้านายของเมืองน่าน
โดยยึดตามรอบคุ้มหลวง(พิพิธภัณฑ์น่าน)เป็นจุดศูนย์กลาง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น