วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประเพณีแข่งเรือยาว จ.น่าน

ประเพณีการแข่งเรือยาวของเมืองน่าน เป็นประเพณีที่เก่าแก่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล การจัดแข่งจะจัดกันเองในหน้าน้ำ ในเทศกาลตานก๋วยสลาก (สลากภัต) แต่ละวัดก็จะนำเรือของตนเข้าแข่งเพื่อเปนการสมานสามัคคีกัน

ลักษณะของเรือแข่ง ซึ่งเป็นเรือของคณะศรัทธาวัดต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากเรือแข่งในจังหวัดอื่น ๆคือ
- ลำเรือใช้ไม้ซุงขุดเป็นร่องเรือชะล่า แต่รูปร่างเพรียวเหมาะสำหรับใช้เป็นเรือแข่ง
- ฝีพาย ลำหนึ่งจะใช้ฝีพายประมาณ 36-55 คน นั่งกันเป็นคู่ๆ ส่วนนายท้ายจะยืน
- รูปร่างของหัวเรือจะำทำเป็นรูปพญานาคราช ชูคอสูงสง่างาม บางลำทำเป็นรูปพญานาคอ้าปากกว้างเห็นฟันขาว มีเขี้ยวขาว น่าเกรงขาม ดวงตาโปนแดง หางทำเป็นหางพญานาคติดพู่ห้อยที่หัวเรือและหางเรือ และมีธงทิวประจำ ติดเป็นสีต่างๆ กัน

เอกลักษณ์ของเรือเมืองน่าน ไม่เหมือนจังหวัดใดในประเทศไทยคือ เป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนหรือตะเคียนทองทั้งต้น โดยเชื่อกันว่า มีความทนทานและผีนางไม้แรง

ก่อนจะถึงเวลาแข่งเรือ เรือแข่งแต่ละลำจะแล่นเลาะขึ้นล่องอยู่กลางลำน้ำเพื่ออวดฝีพายและความสวยงาม ใหประชาชนได้เห็นเสียก่อน ในเรือแข่งจะมีฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ตีกันเป็นจังหวะดังไปทั่วท้องน้ำน่าน เป็นที่สนุกสนานและน่าดูยิ่งนัก สถานที่สำหรับทำการแข่งขันเรือ ก็ใช้ลำน้ำน่าน หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นสนามแข่งขัน

ปัจจุบัน การแข่งเืรือเมืองน่าน ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมบ่งบอกถึงประเพณีของท้องถิ่น ความสามัคคี ศิลปะ สุขภาพอนามัยของชาวบ้าน หากหมู่บ้านใดมีชาวบ้านร่างกายแข็งแรง เรือของหมู่บ้านนั้นก็มักจะชนะ หากหมู่บ้านใดมีผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีศิลปะ เรือของหมู่บ้านนั้นก็จะชนะประเภทสวยงามเช่นกัน

การแข่งเรือที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในเทศกาลแข่งเรือจังหวัดน่าน ก็คือ การแข่งเรือนัดชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งจะมีงานถวายพระกฐินพระราชทาน ทอดถวายที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งจะจัดในราว เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ของทุกปี ที่ลำน้ำน่าน บริเวณสะพานพัฒนาภาคเหนือ ระยะทางประมาณ 650 เมตร ที่เรือพายแข่งกันตามลำน้ำลงมา

มีการแบ่งเรือพายแข่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
เรือใหญ่ : ฝีพายตั้งแต่ 41-58 คน
เรือกลาง : ฝีพาย 31-40 คน
เรือเล็ก : ฝีพาย ไม่เกิน 30 คน

เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์สำหรับพสกนิกรชาวจังหวัดน่าน การแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน เป็นการแข่งเรือเพื่อชิงโล่ และถ้วยพระราชทานมากที่สุดในประเทศ ถึง 6 รางวัล ด้วยกันคือ
1. ถ้วยพระราชทานประเภทเรือใหญ่ : เป็นถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหราช
2. ถ้วยพระราชทานเรือใหญ่พิเศษ : เป็นถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหราช
3. ถ้วยพระราชทานประเภทเรือกลาง : เป็นถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
4. ถ้วยพระราชทานประเภทเรือเล็ก : เป็นถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
5. ถ้วยพระราชทานเรือประเภทสวยงาม : เป็นถ้วยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
6. ถ้วยพระราชทานประเภทกองเชียร์ : เป็นถ้วยพระราชทานของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
เมื่อพิธีเปิดการแข่งขันเริ่มขึ้น ท่ามกลางสายตาของผู้ชมอันแน่นขนัดสองฟากลำน้ำน่าน อึงอลไปด้วยเสียงกองเีชียร์ ฆ้องกลองตีกันดังสนั่นท้องน้ำ และแล้วก็ถูกสะกดให้เงียบสงัดลงด้วยภาพอันงดงามของริ้วขบวนเรือประกวดประเภท เรือสวยงาม ที่ค่อยๆ แล่นอวดโฉมมาจากคุ้งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก

ขบวนเรือสวยงาม เป็นขบวนเรือที่มิใช่เรือแข่งขันความเร็ว หากแต่เป็นเรือที่ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้นานาชนิด เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ของจังหวัดน่าน เช่น งาช้างดำ วัดภูมินทร์ พระธาตุแช่แห้ง เป็นต้น ในเรือ นอกจากลูกเรือแล้ว ก็ยังมีช่างฟ้อนในเครื่องแต่งกายพื้นเมืองหน้าตาสวยงาม ยืนฟ้อนประกอบดนตรีพื้นบ้าน เป็นภาพอันสวยงามชนิดที่หาชมจากที่อื่นไม่ได้ ยิ่งตอนที่ปล่อยขบวนเรือสวยงามออกมาพร้อมๆ กัน กับเรือแ่ข่งขันลำงามจนมีขบวนเรือประเภทต่างๆ แล่นเต็มไปทั้งท้องน้ำน่านนั้น ก็ยิ่งเป็นภาพอันงดงามที่ประทับใจของทุกคนอย่างไม่มีวันลืมเลือนเลยทีเดียว

ขบวนเรือแข่งความเร็ว หลังจากขบวนเรือสวยงามผ่านพ้นไปแล้ว สัญญาณแห่งการแข่งขันก็เริ่มขึ้น เรือทุกลำต่างก็พยายามต่อสู้อย่างดีที่สุด ด้วยกลเม็ดต่างๆ ทั้งที่เลิศพิศดารและธรรมดาสามัญ กลเม็ดทุกชนิดถูกนำมาใช้ เสียงกู่ร้องนับหมื่นคนรอบสองฝั่งน้ำ เสียงนกหวีด เสียงเชียร์ให้กำลังใจ และเสียงพากษ์ของโฆษกสนามดังระงมไปหมด แต่การแข่งขันถึงอย่างไรก็ย่อมีผู้แพ้และผู้ชนะ ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งตื่นเต้นยินดีในความเป็นผู้ชนะ แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เหนื่อยหน่ายกับความพ่ายแพ้ รอยยิ้มเสียงหัวเราะเป็นอีกสีสันหนึ่งของการแข่งเรือเมืองน่านที่เต็มไปด้วย ชีวิตชีวาแห่งนี้

ความสำคัญ 5 ประการของการแข่งเรือเมืองน่านก็คือ
1. เป็นการแข่งเรือชิงโล่และถ้วยพระราชทานมากที่สุดถึง 6 รางวัล
2. มีเรือเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุดคือ มากกว่า 100 ลำ
3. มีเรือเก่าแก่ที่มีอายุมากที่สุด คืออายุกว่า 100 ปี เข้าแข่งขัน คือ เรือเจ้าแม่คำแดงทวี และเรือเสือเฒ่าท่าล้อ
4. เป็นการแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่เก่าแก่และดั้งเดิมของชาวน่าน
5. เรือแข่งเมืองน่าน เป็นเรือแข่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสวยที่สุด


การแข่งเรือนี่เอง ที่ทำให้เมืองน่าน ได้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว คราใดที่มีงานแข่งเรือ ผู้คนจะคราคร่ำ ไปดูการประลองฝีพายกลางลำน้ำน่าน อย่างสนุกสนาน บางปีมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เชิญชวนให้คนทั่วไปได้มาดู มารู้จักกับประเพณี วิถีชีวิตของคนน่าน สร้างความประทับใจและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในงานประเพณีคนน่านตลอดไป

การแข่งขันไม่ได้เน้นหนักในด้านการแพ้หรือชนะ แต่เน้นด้านความสนุกสนานและความสามัคคีเป็นหลัก เมื่อมีการแข่งขันกันอย่างกว้างขวางหลายสนามแข่งขันซึ่งประพฤติปฏิบัติเป็น ประจำทุกปีมาโดยตลอด จึงทำให้พฤติกรรมเหล่านี้กลายมาเป็นประเพณีการแข่งขันเรือของจังหวัดน่านใน ปัจจุบัน เพราะตราบจนกระทั่งวันนี้ คนเมืองน่า่นทุกคน นับแต่ลูกเด็กเล็กแดง จนกระทั่งหนุ่มสาว แก่ชรา ต่างก็ทราบกันดีแล้วว่า ในการแข่งเรือ ใครจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะไม่สำคัญ เพราะผู้ชนะที่แท้จริงของงานนี้ก็คือ ชาวเมืองน่านนั่นเอง ที่สามารถสืบทอดงานประเพณีอันสวยงามและยิ่งใหญ่ของตนไว้ได้เป็นอย่างดีนั่น เอง

เมื่อเสร็จสิ้นเทศกาลแข่งเรือในแต่ละปี คณะศรัทธาแต่ละบ้าน จะนำเรือถอดหัวถอดหางและนำไปเก็บไว้ใน "โฮงเฮีย" (โรงเรือ) เป็นอย่างดี ฉะนั้น หากไม่ใช่ฤดูน้ำหลาก ก็จะไม่ได้เห็นเรือแข่งเมืองน่าน หากต้องการชมเรือแข่งที่เ่ก่าแก่ ก็สามารถไปชมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน จะมีการนำเอาหัวโอ้ และหางวรรณ ของเรือแข่งแบบโบราณ จัดแสดงให้ชม

นอกจากนี้ ที่บริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง ก็จะมีเรือ "เจ้าคับต้า" (เรือใหญ่โตคับลำน้ำ) เรือขนาดใหญ่ จอดอวดโฉม ความยิ่งใหญ่ นับแต่อดีตให้ได้ชมกัน แต่หากอยากดูเรือเต็มๆ ลำ ที่สวยงามและมีประวัติการต่อสู้ในลำน้ำที่น่าดู เทศบาลเมืองน่านได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เรือแข่ง ไว้ ณ บริเวณริมแม่น้ำน่าน เหนือสะพานพัฒนาภาคเหนือ และได้นำเรือ "ขุนน่าน" มาตั้งไว้เพื่อให้ผู้สนใจ หรือนักท่องเที่ยวได้ชม ได้เห็นเรืออันสวยงาม และมีประวัติอันยาวนานสมศักดิ์ศรีเรือแข่งเมืองน่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น