วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตำนานพระธาตุแช่แห้ง

ตำนานพระธาตุแช่แห้ง...พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดน่าน
ภูเพียงแช่แห้งในอดีต
วัดพระธาตุแช่แห้งในปัจจุบัน
คำพูดที่ว่า “ ใครมาเยือน แล้วไม่ได้มานมัสการพระธาตุแช่แห้ง ก็เหมือนไม่ได้มาเมืองน่าน” ไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินความจริงเลย เพราะว่า พระธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานสำคัญ ศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองน่าน มานานกว่า 600 ปี

เรื่องราวตามตำนานและประวัติศาสตร์การสร้างพระธาตุแช่แห้ง มีหลากหลายซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของเมืองน่านมาตั้งแต่อดีต

ในพงศาวดารเมืองน่าน เล่าว่า ในสมัยเจ้าพระยาการเมือง ครองเมืองน่านอยู่ ก็ได้มี พระยาโสปัตตกันทิ เจ้าเมืองสุโขทัย ได้มาเชิญพระยาการเมือง ไปสร้างวัดหลวงอุทัยถึงสุโขทัย ซึ่งพระยาการเมืองก็ไปช่วย จนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความดีความชอบ ที่พระยาการเมือง ได้ช่วยพระยาโสปัตกันทิ สร้างวัดหลวงอุทัย ทำให้พระยาโสปัตกันทิ มีความชื่นชอบพระยาการเมืองเป็นอันมาก ก่อนจะกลับเมืองน่าน ก็ได้มอบพระธาตุเจ้า 7 องค์ เพื่อตอบแทนที่พระยาการเมือง ได้มาสร้างคุณงามความดีให้แก่สุโขทัย

ดังวรรณพระธาตุเจ้า 7 องค์นั้น คล้ายเมล็ดพรรณผักกาด มีวรรณดังแก้ว 3 องค์ วรรณดังมุก 2 องค์ วรรณะทองเท่าเมล็ดงาดำ 2 องค์ , พร้อมพระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ พระยาการเมืองนั้น เมื่อได้ของวิเศษด้วยความชื่นชมโสมนัส แล้วก็นำกลับมาแสดงแก่มหาเถรเจ้า ที่เมืองปัว ด้วยความชื่นชมโสมนัส แล้วถามพระมหาเจรเจ้าว่า ควรเอาประจุธาตุนี้ไว้ที่ใด?

เมื่อพระมหาเถรเจ้าพิจารณาดูที่ควรประจุธาตุนั้นแล้ว ก็กล่าวว่า “ ควรเอาไปประจุไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง ตรงที่ระหว่างกลางแม่น้ำเตี๋ยน และแม่น้ำลิง จึงจะเห็นสมควร เพราะภายภาคหน้า แผ่นดินนี้จะเป็นผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแผ่นดินที่เจริญสืบไป” ....

เมื่อทราบดังนั้น พระยาการเมือง ก็ประกาศป่าวร้อง พสกนิกร และเหล่าเสนาอำมาตย์ พร้อมนิมนต์มหาเถรเจ้าลงไปด้วย มีการแห่นำเอา พระบรมธาตุเจ้ามาจากเมืองปัว มีดนตรีห้าจำพวกคือ ปี่ ฆ้อง กลองยาว ฉาบ และพิณ แห่เอาพระบรมธาตุเจ้าที่ได้ เดินทางไปตามลำน้ำน่านลงไปที่ภูเพียงแช่แห้ง

การเดินทางครั้งนั้น ว่ากันว่า เป็นการเดินทางด้วยทางน้ำ เป็นขบวนแพ ซึ่งในขบวนแพเสด็จครั้งนี้ มีชายหญิงคู่หนึ่ง ชื่อ ปู่คำมา และย่าคำบี้ ทั้งคู่ต่างก็เป็นปฏิภาณกวี ได้ขับซอถ้อง ร้องโต้ตอบกัน สร้างความครึกครื้นให้กับขบวนเสด็จเป็นอันมาก

ซึ่งซอครั้งนั้น เกิดจากการซอบรรยายความงดงามของทิวทัศน์ ของลำน้ำน่านขณะล่องแพ จึงกล่าวได้ว่า ปู่คำมาและย่าคำบี้ เป็นผู้ให้กำเนิดการซอเมืองน่าน ที่เรียกว่า “ ซอล่องน่าน”

เมื่อมาถึง พระยาการเมืองทรงให้ช่างหล่อเต้าปูนสำริดไว้ 1 ต้น พร้อมกับเอาพระธาตุเจ้า พระพิมพ์เงิน พระพิมพคำ ใส่ลงไปในปูน แล้วปิดฝาทับ พร้อมกับพอกด้วย “ สะตายจีน” (ปูนขาวผสมยางไม้ และทรายละเอียด) ให้เกลี้ยงกลมดีและแข็งดังก้อนหิน พร้อมใช้ไพร่พลแต่งกายเป็นเทวบุตร เทวดา มเหสักข์ทั้งปวง นำพระมหาเถรเจ้าและพระยาการเมือง ไปยังหลุมพร้อมนำเอาพระธาตุเจ้าลงใส่ไปในเต้าปูนนั้น

แล้วก็ได้ก่อเจดีย์ขึ้นสูงเหนือแผ่นดิน 1 วา มีการนิมนต์พระภิกษุสังฆะเจ้า กระทำการสมโภช พร้อมมีการสักการบูชา แล้วก็ยกรี้พลกลับเมืองปัว

วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
ดังนั้น ครั้งแรกที่มีการสร้างพระธาตุแช่แห้งนั้น ไม่ใช่เจดีย์องค์ใหญ่อย่างที่พวกเราเห็นอยู่ทุกวันนี้ค่ะ

อยู่มาได้ไม่นานนัก พระยาการเมืองก็มีใจคิดถึงพระธาตุ อยากจะปฏิบัติไหว้สาองค์พระบรมสารีริกธาตุทุกวัน จึงยกรี้พลทั้งหลายเสด็จลงมาตั้งเมืองใกล้พระธาตุ ที่บ้านห้วยไค้ภูเพียง แช่แห้ง ขุดคู กำแพงดินรอบพระธาตุจนเสร็จสิ้น ณ บริเวณพระธาตุแช่แห้ง ให้ชื่อว่า “ เมืองภูเพียงแช่แห้ง”

ต่อมา ปี พ.ศ. 1906 พระยาการเมืองได้สวรรคตลง เจ้าผากอง ลูกของพระยาการเมืองได้ขึ้นครองราชย์แทน จนกระทั่งกาลเวลาล่วงผ่านมา 113 ปี พ.ศ. 2019 ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองฝาง เชียงใหม่ ได้มาครองเมืองน่าน (สมัยนั้นเมืองน่านขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้าติโลกราช) ท้าวขาก่านได้ตำนานเรื่องราวของพระธาตุเจดีย์ดอยภูเพียงแช่แห้ง จากพระมหาเถรเจ้าตนหนึ่ง ชื่อ วชิรโพธิ ท้าวขาก่าน พร้อมด้วยสังฆเจ้าทั้งหลาย จึงได้ร่วมกันค้นหาพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งตอนนั้นปกคลุมด้วยป่าไม้ไผ่ และเถาวัลย์ จะเห็นเพียงแนวจอมปลวกเท่านั้น ท้าวขาก่านจึงได้ให้คนแผ้วถาง ทำการสักการบูชาด้วยช่อตุง เทียน ฯลฯ แต่ก็มองไม่เห็นพระธาตุเจ้า ในระหว่างการแผ้วถางนั้น ยามค่ำคืน พระธาตุก็ได้เปล่งปาฏิหาริย์ จนสว่างสุกใส ท้าวขาก่านได้เห็น ก็พากันขุดคูในจอมปลวก ลึก 1 วา ก็ได้ก้อนผามา 1 ลูกกลมใหญ่กลมเกลี้ยง ท้าวขาก่านจึงทุบให้แตกเห็นข้างใน เป็นต้นปูนใส่ทองเทศใหญ่ มีฝาปิดสนิท จึงให้ปะขาวเชียงโคม ที่อยู่ด้วยนั้น เปิดดูก็เห็นพระธาตุเจ้า 7 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ พระพิมพ์คำ 20 องค์

ซึ่งก็เป็นพระธาตุที่พระยาการเมืองเอามาจากพระยาสุโขทัย และมาบรรจุไว้ในที่ดังกล่าว เมื่อได้ พระธาตุ ท้าวขาก่านก็เอาไปไว้ในหอพระไตรปิฏก ริมข่วงหลวง นานได้เดือนหนึ่ง แล้วไปเรียนให้พระเจ้า ติโลกราชทราบ พระเจ้าติโลกราช จึงได้มีพระกรุณาว่า พบที่ใด ให้นำไปไว้ที่นั่น เมื่อท้าวขาก่านได้ยิน ดังนั้น ก็เอาพระธาตุ ไปบรรจุไว้ที่ดอยภูเพียงที่เก่า และก็ได้ก่อเจดีย์สูง 6 วา ครอบไว้

พระวิหารพุทธไสยยาสน์ วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
่อมา พ.ศ. 2023 พวกแกว (ญวน) ยกรี้พลมาตีเมืองน่าน พระยาติโลกราช ได้มีอาญาให้ ท้าวขาก่าน ยกเอารี้พล 4 หมื่นคนออกสู้รบ ทำศึกกับพวกแกว ท้าวขาก่านจึงมีชัยชนะฆ่าแกวได้มากมาย ยึดเอาช้างเอาม้า ครอบครัวแกวมาถวายพระยาติโลกราช แต่พระยาติโลกราชไม่ทรงพอใจ กล่าวว่า “ แกวก๋าน (พ่ายแพ้) ก็ดีแล้ว แต่เอาครอบครัวแกวมามากมายอย่างนี้ ไม่ดี ไม่ควรเอาแกวมาอยู่ให้มากอย่างนี้” ว่าดังนั้น ก็ได้ให้ท้าวขาก่านไปอยู่เชียงราย ท้าวขาก่านจึงได้ครองเมืองน่านเป็นลำดับองค์ที่ 22

ต่อมาพระเจ้าติโลกราช ให้ท้าวอ้ายยวม มาครองเมืองน่าน ในปี พ.ศ. 2024 ซึ่งท้าวอ้ายยวมก็ได้ชักชวนชาวบ้านชาวเมือง สร้างพระธาตุครอบ องค์พระธาตุเจดีย์ที่ท้าวขาก่านสร้างขึ้น โดยให้ใหญ่กว่า สูงกว่าเก่า กว้าง 10 วา สูง 17 วา ใช้เวลาสร้างราว 4 ปี จึงเสร็จบริบูรณ์ เมื่อสร้างเสร็จท้าวอ้ายยวมก็ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2027 (เป็นผู้ครอบนครน่านอันดับที่ 23 )

พระเจ้าติโลกราช ได้ให้พระยาคำยอดฟ้า มาเสวยราชที่เมืองน่าน เป็นครั้งที่ 2 ราว พ.ศ. 2065 พระยาคำยอดฟ้า ก็ได้ร่วมกับพระสงฆ์เจ้า และประชาชน สร้าง “ พระยาล้านทอง” (พระประธานในวิหารหลวงข้างองค์พระธาตุ) และสร้างกำแพงรอบมหาธาตุ ก่อนที่จะกลับไปครองเมืองเชียงใหม่

ลุถึงปี พ.ศ. 2103 เจ้าพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ได้เป็นเจ้าพระยาเสวยเมืองน่าน เจดีย์หลวงที่ท้าวอ้ายยวมสร้างนั้น ได้ชำรุดผึพัง พระยาหน่อคำฯ จึงได้ทำการบูรณะสร้างซ่อมจนเจดีย์ดีดังเดิม และได้สร้างทางลอดกำแพงมหาธาตุ ยาว 1,300 วา กว้าง 60 วา และสร้างศาลาเข้าพระธาตุ วิหารน้อย และอุโบสถจนแล้วเสร็จ

มีเจ้าผู้ครองนครน่านอีกหลายพระองค์ ที่ได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุแช่แห้ง มาเป็นลำดับ จวบจน พ.ศ. 2446 ที่เป็นประวัติศาสตร์สำคัญ สมัยเจ้าพระเมืองราชา เป็นผู้ครองนครน่าน กองทัพม่าน (พม่า) เข้ามาตีเมืองน่าน ชาวบ้านชาวเมือง พระสงฆ์องค์เจ้า ต่างก็ต้องหลบลี้เข้าไปอยู่ตามป่า ถ้ำ ห้วย ดอย ผู้ครองเมืองก็หนีไปเมืองล้านช้าง ทหารม่านได้ทำลายบ้านเมือง รั้ว เวียงวัง จุดเผา ขุดลอกพระพุทธรูปวัดภูมินทร์องค์ตะวันตก (พระประธานในอุโบสถวัดภูมินทร์ เป็นพระพุทธรูปจตุรทิศ 4 องค์ หันพระปฤษฎางค์ชนกัน หลังคาโบสถเป็นจัตุรมุข) จนได้รับความเสียหาย รวมถึงยอดมหาเจดีย์ทิพย์ เจดีย์หลวงกลางเวียง บ้างก็พังวัดวาอาราม ทหารพม่าก็เผาจนสิ้น

ตามตำนาน เล่าว่า จากสงครามครั้งนั้น บ้านเมืองน่าน วัดวาอาราม ที่อยู่ที่กิน ได้รับความเสียหายจากสงครามเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านชาวเมืองตายเกลื่อนกลาด เป็นที่น่าสลดหดหู่ใจยิ่งนัก ทั้งเมืองน่าน จะเหลือก็เพียงแผ่นดินเท่านั้น

ต่อมาปี พ.ศ. 2557 เจ้าเมืองอังวะ ให้เจ้าฟ้าเมียวชา มาครองเมืองน่าน ได้สร้างแกนธาตุและทังเกิ้ง (ฉัตร) ขึ้นใส่ 7 ชั้น ลุถึง พ.ศ. 2322 เจ้ามโนยกครอบครัวหนีจากเมืองงั่ว มาตั้งบ้านเรือนอยู่เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง ทางทิศตะวันตก ได้บูรณะวัดแช่แห้งวัดจนเรียบร้อยดีงาม รวมถึงสร้างโรงอุดบสถให้กว้างออกไปอีกช่วงหนึ่ง มีการรื้อประตูโขง กำแพงพระธาตุ ทางทิศตะวันตก กำลังจะก่อสร้าง ทัพพม่าก็เข้ามาตีเมืองน่านอีก เจ้ามโนจึงต้องยุติการก่อสร้างและหนีไปเมืองเชียงแสน

พอราวๆ พ.ศ. 2331 เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ได้ครองเมืองน่าน โดยพระบรมราชโองการ พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย แต่งตั้งเป็นเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งขณะนั้นเมืองน่าน รกร้างว่างเปล่า ไม่มีชาวบ้านอยู่เลย ยอดพระเจดีย์แช่แห้งก็ถูกโจรมาหักเอายอด เกิ้ง (ฉัตร) ลงไปเสีย ศาสนาดูมัวหมอง จนถึง พ.ศ. 2332 เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญ พาเจ้านายท้าวขุนและรัฐบาล ไปร่วมกันแผ้วถางวัดหลวงแช่แห้ง บริเวณลานมหาธาตุ เริ่มต้นก่อสร้างประตูโขงขึ้นก่อน และตั้งนั่งร้านมหาธาตุ เอาแกนเหล็กอันเก่าลงมาทำใหม่ ต่อแกนเหล็กเพิ่มขึ้น เพิ่มเกิ้ง (ฉัตร) จาก 7 ชั้นเป็น 9 ชั้น แล้วสร้างรูปหงส์ตัวหนึ่งให้คาบเกิ้ง (ฉัตร) ขึ้น

บริเวณภายในวัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

ตามตำนานเล่าว่า เมื่อเกิ้ง (ฉัตร) ขึ้นยอดมหาธาตุ มีเหตุอัศจรรย์ 7 ประการเกิดขึ้น คือ
1. มีคชฌราชา (พระยาแร้ง) 4 ตัว มาร่อนอยู่ที่พระธาตุเจ้า
2. ได้ยินเสียงเหมือนเสียงนกยูงบินมาแต่ทางทิศใต้ แต่เมื่อเล็งดูก็ไม่เห็น
3. มีงูตัวหนึ่งตามเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเข้าไปในบริเวณมหาธาตุเจ้าแล้วกลับหายไป
4. ขณะเมื่อชักรูปหงส์คาบเกิ้งขึ้นนั้น อันว่ากลีบเมฆทั้งหลายก็กลับหายไปหมด ใต้พื้นฟ้าอากาศเบื้องบนก็สว่างสุกใสบริสุทธิ์มาก
5. ดาวยังท้องฟ้าก็ปรากฏให้เห็นเมื่อเที่ยงวันนั้นเอง
ุุุุุุ6. ฝนก็ตกลงมาเห็นเม็ดอยู่ แต่ก็ไม่ถูกคนทั้งหลายสักคน จะจับเม็ดฝนก็ไม่ได้
ึ7. ฝนตกนานจึง 2 วัน จึงหายไป

พอล่วงมาถึง พ.ศ. 2348 เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ (ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า) ได้ขุดขยายกำแพงพระธาตุเจ้าด้านใต้ออกเป้น 4 วา และต่อประตูโขงด้านตะวันออก ตะวันตก ด้านใต้ และประตูโขง บังเวียนแห่งพระธาตุ 2 ประตู ถึงพ.ศ. 2439 ได้เกณฑ์กำลังคน 500 คน ก่อสร้างรูปมหานาคยาวใหญ่ 2 ตัว ยาว 63 วา หัวแผ่พังพานสูง 10 ศอก ตั้งไว้สองข้างทางขึ้นไปลานองค์พระเจดีย์ มีการก่อศาลาบาตรล้อมรอบกำแพง และก่อรูปเป็นรูปท้าวจัตตุโลกบาลทั้ง 4 ด้าน กับบริวารทั้ง 2 รักษาพระธาตุทั้ง 4 มุม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงสุมนเทวราชครองเมืองน่าน ก็มาเล็งเห็นว่าวิหารหลวงวัดแช่แห้งเป็นที่เสื่อมโทรม ท่านก็ได้ให้ญาติวงศา และเสนาอำมาตย์บูรณะขึ้นใหม่ พอถึงเดือน 6 เพ็ญ วันอาทิตย์ เจ้าหลวงสุมนเทวราชพร้อมด้วยพระมเหสี เสนาอำมาตย์ทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก กระทำพุทธาภิเษกเบิกบานฉลองถวายเป็นทานไว้กับพระพุทธศาสนา บูชาพระมหาธาตุ มีพระสงฆ์มารับไทยทานสมัยนั้น 165 หัววัด เป็นภิกษุ 379 รูป เณร 749 รูป พอถึงเดือน 6 แรม 6 ค่ำ วันศุกร์เกิดแผ่นดินไหว ยอดมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้งก็หักลงมาห้อยอยู่

เมื่อเจ้าอชิตวงศ์ครองเมืองน่านในปี พ.ศ. 2379 ท่านก็เสด็จขึ้นเมืองแช่แห้ง ต่อแกนพระธาตุเจ้า ซึ่งแต่เดิมเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญสร้างมี 12 ศอก ท่านก็พร้อมเพรียงกับเจ้านาย ท้าวพระยาสังฆเจ้า นำเอายอดมหาธาตุที่คดไปทางตะวันออกลงมาดัด แล้วต่อให้ยาวอีก 4 ศอก รวมเป็น 16 ศอก ฉัตรและเกิ้งแต่เดิมมี 9 ใบ ก็สร้างเติมอีก 2 ใบ รวมเป็น 11 ใบ พอถึงเดือน 9 ขึ้น 8 ค่ำ ก็ทำพุทธาภิเษกเบิกบานฉลองทำบุญให้ทานเป็นมหากุศล ถึงเดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ ก็เสร็จ แล้วเจ้าอชิตวงษ์ก็เสด็จเข้าเมืองน่าน

เมื่อถึงปีพ.ศ. 2391 เจ้ามหาวงศ์ขึ้นครองเมืองน่าน ก็ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซ่อมแซมวัดต่างๆ สำหรับวัดพระธาตุแช่แห้งนั้น ท่านได้สร้างเจดีย์ขึ้น 4 องค์ ขึ้นเหนือปากขันหลวง มหาธาตุหลวงเจ้าภูเพียงแช่แห้ง 4 ด้าน ซ่อมแซมวิหารหลวง ศาลาบาตร ประตูโขลน ศาลานางป้อง ได้เชิญแกนเหล็กขึ้นใส่ เอาฉัตรและเกิ้งขึ้นแถมอีก 2 ใบ ดอกบัวเงิน 6 ดอก ดอกบัวคำ 6 ดอก สร้างกระดิ่งห้อย 10 ลูก สร้างพระพุทธรูป 3 องค์ แล้วทำบุญเฉลิมฉลอง

บริเวณภายนอกวัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

เจ้าผู้ครองนครน่าน ผ่านมาหลายองค์ ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะพระธาตุแช่แห้งต่อๆ กันมาเป็นลำดับ ทั้งที่มีการบันทึกและไม่มีการบันทึกไว้ จนถึงสมัยของเจ้าผู้ครองนครน่าน พระนามว่า “ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐ์มหันตไชยนันท์ บุรมหาราชวงศาธิบดี สุจริตจารราชานุภาวรักษ์ วิบูลย์ศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตร สถิตนันทราชวงษ์” พระเจ้านครน่าน เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้บริจาคทรัพย์ก่อสร้างสิ่งถาวรวัตถุ มีจารึกไว้ในศิลา ที่วัดแช่แห้งว่า..........

ได้ยกทุนทรัพย์อันสุจริตชอบ ซื้อปิตโลหตัน หลูบหุ้มมหาเจนยเกศาธาตุ (ซื้อทองจังโก๋ปิดหุ้มองค์เจดีย์) ปิดทับด้วยทองคำเปลว และสร้างพระวิหารหลวงใหม่ สร้างกำแพงศาลาบาตรด้วยอิฐ มุงด้วยดินอิฐเผา มีประตูโขงเข้าออก 4 ด้าน และสร้างใบเสมาล้อมรอบตีนธรณีมหาเจดีย์ สร้างรูปสิงโต 2 ตัว สร้างวิหารพระทันใจ สร้างพญานาคใหญ่ 2 ตัว สร้างถนนระหว่างนาค สร้างลานอารามเหนือภูเพียงแช่แห้ง รวมเป็นเงิน 48,699 บาท กับ 32 อัฐ โดยสร้างวิหารพุทธไสยาศน์ เมื่อ พ.ศ. 2450 ซ่อมแซมฐานพระไสยาสน์ มุงกระเบื้องไม้ยม เพดานลงรักปิดทอง ก่อกำแพงแก้วรอบ สิ้นเงิน 4,000 บาท

พ.ศ. 2549 พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ได้รับพระราชทานยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ “ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง”

พระธาตุแช่แห้งในปัจจุบัน ตั้งอยู่วัดพระธาตุแช่แห้ง ทางทิศตะวันออกของเมืองน่าน เป็นปูชนียสถานสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน มีอายุนานกว่า 600 ปี องค์พระธาตุเป็นสถูปแบบพื้นเมือง เดิมเป็นสถูปทรงลังกา แต่ได้หักพังและมีการปฏิสังขรณ์สืบกันมาหลายครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่างฝีมือและคตินิยมของแต่ละยุคสมัย

รูปแบบของเจดีย์ยังคงได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย หากมีการต่อเติมแก้ลายบางส่วน จากอิทธิพลศิลปะพม่า เช่น ฐานหน้ากระดานกลม แก้เป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยมตกแต่งเป็นลายกลีบบัวแทน

องค์ประกอบที่สำคัญโดยรอบวัดพระธาตุแช่แห้ง

ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
บริเวณวัด ประกอบไปด้วย : พระอุโบสถ พระธาตุชเวดากองจำลอง สร้างสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ โปรดให้สล่าน้อยยอด คนเมืองลำพูนมาก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ.2451 เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะเมีย
พระวิหารพุทธไสยยาสน์ : สร้างเมื่อง พ.ศ.2129 โดยนางแสดพลัว ชายาของพระยาหน่อเสถียรไชยสงครามเมืองน่าน (พ.ศ.2103-2134)
ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน : เป็นขุนนางที่พระเจ้าติโลกราชส่งมาปกครองเมืองน่าน
เป็นขุนนางที่มีความสามารถในการรบ สามารถชนะพวกแกวที่มารุกรานเมืองน่านได้อย่างเด็ดขาด เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองน่าน
บ่อน้ำทิพย์ : ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยมีเล่า่ต่อกันมาว่า "ในสมัยก่อนมีพระธุดงค์มาปฏิบัติธรรมและไม่มีน้ำดื่ม พระธุดงธ์จึงขุดบ่อน้ำขึ้น ซึ่งก่อนนั้น ชาวบ้านเรียกว่า "บ่อตุ๊ป่่่า (ตุ๊ป่า คือ พระธุดงด์)
ต้นไม้สำคัญ : ต้นไม้สำคัญที่มีอายุนับร้อยปี ดังเช่นต้นโพธิ์ต้นใหญ่ที่อยู่บริเวณลานหน้าวัด ต้นพิกุลที่อยู่บริเวณบันไดนาค ต้นมะม่วง ต้นตาลและต้นไม้สำคัญอื่นๆ บริเวณด้านหลังของวัดยังปรากฎร่องรอยของแนวคูน้ำคันดินลึกประมาณ 3 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร

เจดีย์ชเวดากองจำลอง พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
พระธาตุแช่แห้งตั้ง อยู่ที่ บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ทุกๆ ปี จะมีงานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ในราวขึ้น 11 ค่ำ – 15 ค่ำ เดือน (เดือน 6 เหนือ) หากจะนับจันทรคติก็อยู่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือประมาณเดือนมีนาคมทุกปี หรือที่เรียกว่า หกเป็ง
วัดพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่บนเนินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน
งานประเพณีหกเป็ง เป็นงานที่สำคัญที่คนเมืองน่านจะได้ไปปฏิบัติไหว้สา นมัสการองค์พระธาตุ ซึ่งจะมีพิธีสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม การปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาว การสวดมนต์เทศมหาชาติ รวมถึงการละเล่น ทางวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมานาน เช่น การแข่งขันประกวดการตี “ กลองแอว” การจ๊อย การซอ การอ่านค่าว เป็นต้น
งานประเพณีหกเป็ง วัดพระธาตุแช่แห้ง
ขบวนแห่ขึ้นพระธาตุแช่แห้ง ประเพณีหกเป็ง
ขบวนแห่ขึ้นพระธาตุแช่แห้ง ประเพณีหกเป็ง

ในงานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง คนน่าน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยว จะแห่แหนกันมาทำบุญ นมัสการองค์พระธาตุแช่แห้งกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์พระธาตุแช่แห้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ ตามคติการไหว้พระธาตุตามปีนักกษัตรของชาวล้านนา

คนเมืองน่าน และจังหวัดน่าน ได้ยกให้งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ และถือเป็นปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน ที่สำคัญอีกงานหนึ่งด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากแรงศรัทาของพุทธบริษัทและพุทธศาสนิกชนชาวน่านทั้งมวล อันถือเป็นมหากุศลยิ่งใหญ่

และวันนี้... องค์พระธาตุแช่แห้ง ได้ตั้งตระหง่านอยู่บนดอยภูเพียงแช่แห้ง แลดูเหลืองอร่ามตั้งแต่ยอดถึงฐาน คู่บ้านคู่เมืองของเมืองน่านสืบต่อไป อยู่ตราบนานเท่านานตลอดไป.......

วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง จ.น่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น