วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ขับรถเที่ยวเป็นคู่ เส้นทางขับรถเที่ยวรอบจังหวัดน่าน

ขับรถเที่ยวรอบเมืองน่าน
เส้นทางน่าน ปัว ทุ่งช้าง
การท่องเที่ยวแบบตระเวนขับรถไปบนเส้น ทางสายใดสายหนึ่ง นับว่าเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชื่นชอบการขับรถเที่ยว และเมื่อนึกถึงเส้นทางขับรถเที่ยว เราก็มักจะนึกถึงเส้นทางภูเขาในแถบภาคเหนือ หลายคนชื่นชอบความคดโค้งยากลำบากของเส้นทาง ถนนที่ตัดผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ที่ค่อยๆ ไต่ระดับไปตามความลาดชันคดโค้งไปมาสลับซ้ายทีขวาที บางช่วงขอบทางด้านหนึ่งเป็นผนังผา เผยเนื้อหินสีแดงซึ่งเกิดจากการตัดทางให้เห็นและอีกด้านเป็นเหวลึก บางช่วงของเส้นทางหากชะโงกหน้าลงไปก็จะเห็นถนนสีเทาเป็นเส้นเล็กๆ เลื้อยไปมาท่ามกลางผืนป่าเขียวขจี นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการขับรถเที่ยว

ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่ในจังหวัดน่าน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมากมายนี่เอง การจะเดินทางมาท่องเที่ยวน่านให้ทั่วถึง คงต้องใช้เวลาไม่น้อยทีเดียว และต้องกำหนดวางแผนการวางเป้าหมายว่า ต้องการเที่ยวรูปแบบไหน หรือสถานที่ใดก่อนหลัง และยังต้องคำนึงถึงฤดูกาลเป็นสำคัญด้วย

วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.เมือง จ.น่าน
โดยหลักๆ แล้วสถานที่ท่องเที่ยวน่าน แบ่งน่านออกเป็น 2 ส่วนกว้างๆ โดยใช้อำเภอเมืองน่านเป็นจุดศูนย์กลางคือ
1. "น่านตอนใต้" ได้แก่ อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย และ อำเภอนาหมื่น
เส้นทางนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติคือ : ทะเลหมอกดอยเสมอดาว เสาดินนาน้อย แก่งหลวง ชมนางพญาเสือโคร่งบานและไร่กะหล่ำปี ที่ขุนสถาน หรือจะเลยไปยังปากนายของอำเภอนาหมื่น ชมท้องน้ำกว้างของทะเลสาบเขื่อนสิริกิติ์ และชิมอาหารจำพวกปลาที่มีแพร้านอาหารไว้บริการ นอกจากนี้ ในส่วนของอำเภอเวียงสา มีวัดน่าสนใจแห่งหนึ่งคือ วัดบุญยืน เป็นวัดเก่าแก่มีอายุนับร้อยปี

แผนที่ขับรถเที่ยวน่านตอนใต้ : เส้นทางน่าน เวียงสา นาน้อย นาหมื่น
2. "วงรอบน่านตอนเหนือ" ในส่วนนี้มีพื้นที่กว้างกว่าและมีแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า น่านตอนใต้ โดยหากดูตามแผนที่จังหวัดน่าน จะพบว่า น่านตอนเหนือมีถนนเชื่อมต่อกันหลายสาย จากอำเภอสู่อำเภอ และสภาพเส้นทางส่วนใหญ่เป็นทางคดโค้งสูงชันทีเดียว การขับขี่รถยนต์ควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และกำหนดการวางแผนเดินทางให้ดี
เริ่มต้นอาจยึดถือเอาทางหลวงหมายเลข 1080 เป็นหลัก กล่าวคือ จากตัวเมืองน่านสู่อำเภอท่าวังผา เส้นทางช่วงนี้ยังเป็นเส้นทางไม่ลาดชันนักขับรถได้สบายๆ ผ่านทุ่งนาและสวนผักในที่ราบยาวไกลจนจรดเทือกดอยที่ห้อมล้อมอยู่เบื้องหลัง จากอำเภอท่าวังผา สามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1148 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วแยกไปทางหลวงหมายเลข 1082 ประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแห่งชาตินันทุบรี ที่อุทยานฯ แห่งนี้มีจุดท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่งด้วยกัน ถ้าใช้เส้นทางนี้อาจใช้เส้นทาง 1080 ตรงไปทางอำเภอปัว มีทางเหลือสองเส้นทางคือ
เส้นทางแรก หากตรงไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 จะไปยังอำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 1081 วกกลับลงมาัยังอำเภอบ่อเกลือ ตลอดเส้นทางในแต่ละเขตอำเภอพบสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งด้วยกัน อาทิ วัดหนองแดง วัดเก่าแก่ของชาวไทลื้อ อนุสาวรีย์วีรกรรมทุ่งช้าง ด่านชายแดนห้วยโก๋น-น้ำเงิน เป็นต้น
เส้นทางที่สอง คือ จากอำเภอปัว แยกเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1256 ขึ้นดอยสูงชันของเทือกดอยภูคา เพื่อมายังอุทยานแห่งชาติดอยภูคา พร้อมกันนี้บนพื้นที่แห่งนี้ยังสามารถสัมผัสธรรมชาตป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดทั้งความหนาวเย็นตลอดทั้งปี จากดอยภูคาสามารถบรรจบกับเส้นทางแรกที่อำเภอบ่อเกลือ ชุมชนผลิตเกลือภูเขาแห่งเดียวในโลก ถ้าไม่วกขึ้นไปทางอำเภอเฉลิมพระเีกียรติ ก็สามารถลงมาทางอำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม สัมผัสธรรมชาติผืนป่าของอุทยานแห่งชาติแม่จริมและสายน้ำว้าอันเลื่องชื่อ
แผนที่ขับรถเที่ยวน่านตอนเหนือ : น่าน ท่าวังผา ปัว ทุ่งช้าง บ่อเกลือ เฉลิมพระเกียรติ
สันติสุข แม่จริม
แนะนำเส้นทางขับรถเที่ยวน่าน จากเส้นทางที่กล่าวมา แต่ละเส้นทางเราสามารถออกแบบโปรแกรมเดินทางเที่ยวเองได้ จะใช้เวลาสั้นยาวมากน้อยแค่ไหนก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบ
วางแผนเดินทาง :
วันที่ 1- น่าน-ท่าวังผา-ดอยภูคา (ประมาณ 80 กิโลเมตร) เที่ยวในตัวเมืองน่านแล้วเดินทางไปอำเภอท่าวังผา แวะหมู่บ้านไทลื้อหนองบัว แล้วมุ่งหน้าสู่ดอยภูคา ชมดอกชมพูภูคาและเต่าร้างยักษ์ ค้างที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
วันที่ 2- บ่อเกลือ-ล่องแก่งน้ำว้า (ประมาณ 104 กิโลเมตร) เดินทางไปบ่อเกลือ จากนั้นเดินทางไปอุทยานแห่งชาติแม่จริม จุดลงเรือยางเพื่อล่องแก่งน้ำว้าตอนล่าง จากนั้นขับรถวนกลับอำเภอเมืองน่าน ซื้อของฝากในตัวเมืองน่าน
วันที่ 2 - น่าน-เวียงสา-ดอยผาชู้-ดอยเสมอดา (ประมาณ 40 กิโลเมตร) ออกจากตัวเมืองแต่เช้าตรู่น่านขับรถไปเส้นทางแพร่-น่าน แล้วเข้าสู่อำเภอเวียงสา ขึ้นชมดอยเสมอดาว ทะเลหมอกผาชู้ จากนั้นขับรถออกเส้นทางแพร่ เพื่อเดินทางกลับ

ผาชู้ อ.นาน้อย จ.น่าน
นอนสบายรายทาง จังหวัดน่าน มีรีสอร์ทตามรายทางให้เลือก ตั้งแต่ดอยภูคา ไปอำเภอปัว จนถึงดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
ที่พักแนะนำ :
โรงแรมอูปแก้วรีสอร์ท (อำเภอปัว) โทร.054-756587-9 เว็บไซต์ www.upkaeoresort.com
โรงแรมน่านวัลเลย์รีสอร์ท (อำเภอเมืองน่าน) โทร. 054-798400 , 054-798220 เว็บไซต์ www.nanvalley.com
เวียงสาพาราไดซ์รีสอร์ท (อำเภอเวียงสา เส้นทางแพร่-น่าน) โทร. 054-799081

วัดบุญยืน อ.เวียงสา จ.น่าน
อร่อยรายทาง : สามารถหาอาหารพื้นเมืองหาทานได้ในตัวอำเภอ ตามเส้นทางเป็นอาหารทั่วไป เมนูที่ไม่ควรพลาด คือเมนูปลาแม่น้ำน่าน
ร้านอาหารแนะนำ : ชมพูภูคารีสอร์ท (อำเภอปัว), สวนอาหารเรือนแก้ว (อำเภอเมืองน่าน) , ร้านอาหารจวน (ทางเข้าหน้าสถานีขนส่งเวียงสา)

ช้อปปิ้งรายทาง : ผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์จากไม้สัก เครื่องเงิน ชา เกลือสินเธาว์
ร้านจางตระกูล(ผ้าทอ) อำเภอเมืองน่าน, ดอยซิลเวอร์(เครื่องเงิน) อำเภอปัว, มะขามหวานแปรรูป(อำเภอนาน้อย)

โรงแรมป่าปัวภูคา อ.ปัว จ.น่าน
คู่มือนักเดินทาง : ขับรถเที่ยวน่าน
เริ่มต้นจากในเมืองน่าน นมัสการพระธาตุแช่แห้ง ไหว้พระวัดภูมินทร์ เลยวัดภูมินทร์เลี้ยวขวามือ มีร้านขนมจีนป้าวันดา เจ้าอร่อยซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำน่าน จากเมืองน่านใช้เส้นทาง 1080 สู่อำเภอท่าวังผา แวะกิโลเมตรที่ 20 ชมหอศิลป์ริมน่าน จากนั้นไปอีก 23 กิโลเมตร จะถึงอำเภอท่าวังผา ก่อนถึงอำเภอท่าวังผาแยกซ้ายมือไปวัดหนองบัว สถาัปัตยกรรมแบบไทลื้อ รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจ จากนั้นเดินทางไปอีก 16 กิโลเมตร จะถึงอำเภอปัว ร้านอาหารในปัว มีก๋วยเตี๋ยวหมูข้างทางหมายเลข 1169 แวะวัดไทลื้อ วัดต้นแหล็ง ที่จะไปอำเภอสันติสุขและจังหวัดน่านน่าน สังเกตหน้าร้านมีต้นหูกวาง หากมาจากโรงแรมป่าปัวภูคา ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ จากปัวใช้เส้นทางหมายเลข 1256 ถึงอำเภอบ่อเกลือ เป็นเส้นทางที่ผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ถนนแคบและขี้นลงชัน ในอุทยานฯมีที่พักแรมเหมาะสมหลายจุด

จากนั้นขับไปตามทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงอำเภอเชียงกลาง และอำเภอทุ่งช้าง ซ้ายมือมี อนุสาวรีย์วีรกรรมพตท. จากนั้นขับรถไปอำเภอเฉลิมพระเกียรติทางจะวกวนอยู่บนนำภูเขา 40 กิโลเมตร ไม่ค่อยมีรถ ทางค่อนข้างขรุขระ บนเส้นทางส่วนใหญ่จะไปตามเทือกเขา ยางอะไหล่ควรอยู่ในสภาพสมบูรณ์ โค้งหักศอกมากต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควร ที่บ้านบ่อหยวกมีปั้มหลอดทั้งเบนซินและดีเซล มีร้านขายก๋วยเตี๋ยวหมูชามละ 10 บาท เส้นทางช่วงนี้จะเลาะเลียบชายแดนไทย-ลาว

ที่ำอำเภอเฉลิมพระเกียรติจะมีจุดผ่อนปรนการค้า ซึ่งจะมีตลาดนัดเฉพาะวันเสาร์ครึ่งวัน ซึ่งนอกจากชาวลาวเมืองหงสาและเมืองเงินจะข้ามมาซื้อขายสินค้ากันคึกคักแล้ว ชาวม้ง ชาวขมุ และชาวถิ่น ก็ยังเดินกันขวักไขว่ เพื่อนำเอาผ้า ผัก และของพื้นบ้านเล็กๆ น้อยๆ มาขายและซื้อของกินของใช้กลับไป ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางสู่เมืองหงสา และเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว มีระยะทาง 152 กิโลเมตร หรือจะไปเตียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ระยะทาง 406 กิโลเมตร โดยสามารถใช้ passport และคู่มือทะเบียนรถตัวจริง พร้อมสำเนา หากติดไฟแนนซ์ก็ต้องให้บริษัททำหนังสือมอบอำนาจและระบุว่านำมาใช้ในกรณีใด ด่านตม.ที่อ.เฉลิมพระเกียรติ เปิดเวลา 08.00-18.00 น.

จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 108 เข้าสู่อำเภอบ่อเกลือ แวะชมน้ำตกสะปันและแวะดูบ่อเกลือบนภูเขา จากอำเภอบ่อเกลือมีทางลาดยางไปถึงอำเภอสันติสุขได้ ระยะทางไปอำเภอสันติสุขประมาณ 27 กิโลเมตร ผ่านบ้านแม่สะนาน บ้านดอนไพรวัลย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านม้ง จากนั้นวิ่งเข้าทางหลวงหมายเลข 1257 จนถึงอำเภอสันติสุข มีตลาดเล็กๆในอำเภอให้เดินซื้อขนมมีร้านอาหารตามสั่งอยู่หลายร้าน จากนั้นออกจากตัวอำเภอวิ่งเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1168 เพื่อเข้าสู่อุทยานแห่งชาติแม่จริม อีกประมาณ 27 กิโลเมตร สัมผัสบรรยากาศการล่องแก่ง จากนั้นใ้ทางหลวงหมายเลข 1162 ไปอำเภอเวียงสา จากนั้นวิ่งเข้าทางหลวงหมายเลข 1026 ซึ่งเป็นถนนสายหลักสู่อำเภอนาน้อย

ก่อนถึงตัวอำเภอมีแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1083 ที่ผ่านเสาดินนาน้อยก่อนถึงอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ปิดท้ายการเดินทางด้วย ดอยเสมอดาวและผาชู้ จุดชมทะเลหมอกที่สวยที่สุดของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ซึ่งเห็นผาชู้อยู่ทางขวา เห็นแม่น้ำน่านสีส้มทอดยาวเหยียดผ่านผืนป่าเขียวเข้ม

ล่องแก่งน้ำว้า อ.แม่จริม จ.น่าน
ดอยเสมอดาว อ.นาน้อย จ.น่าน
วัดภูมินทร์ อ.เมือง จ.น่าน
พิกัด GPS น่าน : ละติจูด(N) 18ํ ํ 45 ' 34.5" ลองติจูด(E) 100 ํํ 46 ' 26.1"
วัดพระธาตุแช่แห้ง : N18 45.524 E100 47.351
วัดภูมินทร์ : N18 46.476 E100 46.297
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน : N18 46.574 E100 46.238
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา : N19 14.025 E101 03.815
วัดหนองบัว : N19 05.317 E100 47.196
เสาดินนาน้อย : N18 19.102 E100 45.030

ศูนย์กู้ภัย อบจ.น่าน
อ.เมือง โทร. 054-711517
อ.เวียงสา โทร. 054-782645
อ. ปัว โทร. 054-791597


ข้อควรรู้ขับรถเที่ยว : ท่านั่งขับรถ (บอกขีดความสามารถในการควบคุมรถ)
การ ปรับระยะหางเบาะรองนั่ง สำหรับรถเกียร์ธรรมดา ให้เท้าเหยียบแป้นคลัตช์จนสุด ค้างไว้ โดยไม่เขย่ง แล้วเลื่อนเบาะเข้ามาให้งอเข่าเล็กน้อย ส่วนรถเกียร์อันโนมัติ ให้เหยียบคันเร่งแทนแป้นคลัตช์
ต้องนั่งหลังพิงพนักเบาะให้มั่นคง เวลาโดนชนจะลดแรงที่กระทำต่อกล้ามเนื้อหลัง
ปรับระดับคอพวงมาลัยให้เห็นมาตรวัดและไฟเตือนบนหน้าปัด วงพวงมาลัยต้องสูงพ้นหน้าตักของผู้ขับรถ
มือจับพวงมาลัยส่วนบนสุดและงอแขนเล็กน้อย จะช่วยให้มีระยะหมุนพวงมาลัยได้ดีกว่าเหยียดแขนตรง
เวลาขับรถ อย่านั่งหุบเข่า ให้เข่าซ้ายยันกับคอนโซลกลางรถ เพื่อให้เกิดความมั่นคงเวลาขับรถ
การหมุนพวงมาลัย ต้องให้น้ำหนักเท่ากันทั้งมือขวาและซ้าย จะทำให้หมุนพวงมาลัยไม่กระตุก
ใน การเหยียบเบรคหรือคลัตช์ ให้ส้นเท้าลอยจากพื้นรถ (ถ้าส้นเ้ท้าแตะพื้นรถ แรงจะลงที่พื้นรถมากกว่าไปที่คันเบรก เป็นสาเหตุให้เบรกรถไม่หยุด)

ตำนานพระธาตุแช่แห้ง

ตำนานพระธาตุแช่แห้ง...พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดน่าน
ภูเพียงแช่แห้งในอดีต
วัดพระธาตุแช่แห้งในปัจจุบัน
คำพูดที่ว่า “ ใครมาเยือน แล้วไม่ได้มานมัสการพระธาตุแช่แห้ง ก็เหมือนไม่ได้มาเมืองน่าน” ไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินความจริงเลย เพราะว่า พระธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานสำคัญ ศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองน่าน มานานกว่า 600 ปี

เรื่องราวตามตำนานและประวัติศาสตร์การสร้างพระธาตุแช่แห้ง มีหลากหลายซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของเมืองน่านมาตั้งแต่อดีต

ในพงศาวดารเมืองน่าน เล่าว่า ในสมัยเจ้าพระยาการเมือง ครองเมืองน่านอยู่ ก็ได้มี พระยาโสปัตตกันทิ เจ้าเมืองสุโขทัย ได้มาเชิญพระยาการเมือง ไปสร้างวัดหลวงอุทัยถึงสุโขทัย ซึ่งพระยาการเมืองก็ไปช่วย จนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความดีความชอบ ที่พระยาการเมือง ได้ช่วยพระยาโสปัตกันทิ สร้างวัดหลวงอุทัย ทำให้พระยาโสปัตกันทิ มีความชื่นชอบพระยาการเมืองเป็นอันมาก ก่อนจะกลับเมืองน่าน ก็ได้มอบพระธาตุเจ้า 7 องค์ เพื่อตอบแทนที่พระยาการเมือง ได้มาสร้างคุณงามความดีให้แก่สุโขทัย

ดังวรรณพระธาตุเจ้า 7 องค์นั้น คล้ายเมล็ดพรรณผักกาด มีวรรณดังแก้ว 3 องค์ วรรณดังมุก 2 องค์ วรรณะทองเท่าเมล็ดงาดำ 2 องค์ , พร้อมพระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ พระยาการเมืองนั้น เมื่อได้ของวิเศษด้วยความชื่นชมโสมนัส แล้วก็นำกลับมาแสดงแก่มหาเถรเจ้า ที่เมืองปัว ด้วยความชื่นชมโสมนัส แล้วถามพระมหาเจรเจ้าว่า ควรเอาประจุธาตุนี้ไว้ที่ใด?

เมื่อพระมหาเถรเจ้าพิจารณาดูที่ควรประจุธาตุนั้นแล้ว ก็กล่าวว่า “ ควรเอาไปประจุไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง ตรงที่ระหว่างกลางแม่น้ำเตี๋ยน และแม่น้ำลิง จึงจะเห็นสมควร เพราะภายภาคหน้า แผ่นดินนี้จะเป็นผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแผ่นดินที่เจริญสืบไป” ....

เมื่อทราบดังนั้น พระยาการเมือง ก็ประกาศป่าวร้อง พสกนิกร และเหล่าเสนาอำมาตย์ พร้อมนิมนต์มหาเถรเจ้าลงไปด้วย มีการแห่นำเอา พระบรมธาตุเจ้ามาจากเมืองปัว มีดนตรีห้าจำพวกคือ ปี่ ฆ้อง กลองยาว ฉาบ และพิณ แห่เอาพระบรมธาตุเจ้าที่ได้ เดินทางไปตามลำน้ำน่านลงไปที่ภูเพียงแช่แห้ง

การเดินทางครั้งนั้น ว่ากันว่า เป็นการเดินทางด้วยทางน้ำ เป็นขบวนแพ ซึ่งในขบวนแพเสด็จครั้งนี้ มีชายหญิงคู่หนึ่ง ชื่อ ปู่คำมา และย่าคำบี้ ทั้งคู่ต่างก็เป็นปฏิภาณกวี ได้ขับซอถ้อง ร้องโต้ตอบกัน สร้างความครึกครื้นให้กับขบวนเสด็จเป็นอันมาก

ซึ่งซอครั้งนั้น เกิดจากการซอบรรยายความงดงามของทิวทัศน์ ของลำน้ำน่านขณะล่องแพ จึงกล่าวได้ว่า ปู่คำมาและย่าคำบี้ เป็นผู้ให้กำเนิดการซอเมืองน่าน ที่เรียกว่า “ ซอล่องน่าน”

เมื่อมาถึง พระยาการเมืองทรงให้ช่างหล่อเต้าปูนสำริดไว้ 1 ต้น พร้อมกับเอาพระธาตุเจ้า พระพิมพ์เงิน พระพิมพคำ ใส่ลงไปในปูน แล้วปิดฝาทับ พร้อมกับพอกด้วย “ สะตายจีน” (ปูนขาวผสมยางไม้ และทรายละเอียด) ให้เกลี้ยงกลมดีและแข็งดังก้อนหิน พร้อมใช้ไพร่พลแต่งกายเป็นเทวบุตร เทวดา มเหสักข์ทั้งปวง นำพระมหาเถรเจ้าและพระยาการเมือง ไปยังหลุมพร้อมนำเอาพระธาตุเจ้าลงใส่ไปในเต้าปูนนั้น

แล้วก็ได้ก่อเจดีย์ขึ้นสูงเหนือแผ่นดิน 1 วา มีการนิมนต์พระภิกษุสังฆะเจ้า กระทำการสมโภช พร้อมมีการสักการบูชา แล้วก็ยกรี้พลกลับเมืองปัว

วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
ดังนั้น ครั้งแรกที่มีการสร้างพระธาตุแช่แห้งนั้น ไม่ใช่เจดีย์องค์ใหญ่อย่างที่พวกเราเห็นอยู่ทุกวันนี้ค่ะ

อยู่มาได้ไม่นานนัก พระยาการเมืองก็มีใจคิดถึงพระธาตุ อยากจะปฏิบัติไหว้สาองค์พระบรมสารีริกธาตุทุกวัน จึงยกรี้พลทั้งหลายเสด็จลงมาตั้งเมืองใกล้พระธาตุ ที่บ้านห้วยไค้ภูเพียง แช่แห้ง ขุดคู กำแพงดินรอบพระธาตุจนเสร็จสิ้น ณ บริเวณพระธาตุแช่แห้ง ให้ชื่อว่า “ เมืองภูเพียงแช่แห้ง”

ต่อมา ปี พ.ศ. 1906 พระยาการเมืองได้สวรรคตลง เจ้าผากอง ลูกของพระยาการเมืองได้ขึ้นครองราชย์แทน จนกระทั่งกาลเวลาล่วงผ่านมา 113 ปี พ.ศ. 2019 ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองฝาง เชียงใหม่ ได้มาครองเมืองน่าน (สมัยนั้นเมืองน่านขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้าติโลกราช) ท้าวขาก่านได้ตำนานเรื่องราวของพระธาตุเจดีย์ดอยภูเพียงแช่แห้ง จากพระมหาเถรเจ้าตนหนึ่ง ชื่อ วชิรโพธิ ท้าวขาก่าน พร้อมด้วยสังฆเจ้าทั้งหลาย จึงได้ร่วมกันค้นหาพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งตอนนั้นปกคลุมด้วยป่าไม้ไผ่ และเถาวัลย์ จะเห็นเพียงแนวจอมปลวกเท่านั้น ท้าวขาก่านจึงได้ให้คนแผ้วถาง ทำการสักการบูชาด้วยช่อตุง เทียน ฯลฯ แต่ก็มองไม่เห็นพระธาตุเจ้า ในระหว่างการแผ้วถางนั้น ยามค่ำคืน พระธาตุก็ได้เปล่งปาฏิหาริย์ จนสว่างสุกใส ท้าวขาก่านได้เห็น ก็พากันขุดคูในจอมปลวก ลึก 1 วา ก็ได้ก้อนผามา 1 ลูกกลมใหญ่กลมเกลี้ยง ท้าวขาก่านจึงทุบให้แตกเห็นข้างใน เป็นต้นปูนใส่ทองเทศใหญ่ มีฝาปิดสนิท จึงให้ปะขาวเชียงโคม ที่อยู่ด้วยนั้น เปิดดูก็เห็นพระธาตุเจ้า 7 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ พระพิมพ์คำ 20 องค์

ซึ่งก็เป็นพระธาตุที่พระยาการเมืองเอามาจากพระยาสุโขทัย และมาบรรจุไว้ในที่ดังกล่าว เมื่อได้ พระธาตุ ท้าวขาก่านก็เอาไปไว้ในหอพระไตรปิฏก ริมข่วงหลวง นานได้เดือนหนึ่ง แล้วไปเรียนให้พระเจ้า ติโลกราชทราบ พระเจ้าติโลกราช จึงได้มีพระกรุณาว่า พบที่ใด ให้นำไปไว้ที่นั่น เมื่อท้าวขาก่านได้ยิน ดังนั้น ก็เอาพระธาตุ ไปบรรจุไว้ที่ดอยภูเพียงที่เก่า และก็ได้ก่อเจดีย์สูง 6 วา ครอบไว้

พระวิหารพุทธไสยยาสน์ วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
่อมา พ.ศ. 2023 พวกแกว (ญวน) ยกรี้พลมาตีเมืองน่าน พระยาติโลกราช ได้มีอาญาให้ ท้าวขาก่าน ยกเอารี้พล 4 หมื่นคนออกสู้รบ ทำศึกกับพวกแกว ท้าวขาก่านจึงมีชัยชนะฆ่าแกวได้มากมาย ยึดเอาช้างเอาม้า ครอบครัวแกวมาถวายพระยาติโลกราช แต่พระยาติโลกราชไม่ทรงพอใจ กล่าวว่า “ แกวก๋าน (พ่ายแพ้) ก็ดีแล้ว แต่เอาครอบครัวแกวมามากมายอย่างนี้ ไม่ดี ไม่ควรเอาแกวมาอยู่ให้มากอย่างนี้” ว่าดังนั้น ก็ได้ให้ท้าวขาก่านไปอยู่เชียงราย ท้าวขาก่านจึงได้ครองเมืองน่านเป็นลำดับองค์ที่ 22

ต่อมาพระเจ้าติโลกราช ให้ท้าวอ้ายยวม มาครองเมืองน่าน ในปี พ.ศ. 2024 ซึ่งท้าวอ้ายยวมก็ได้ชักชวนชาวบ้านชาวเมือง สร้างพระธาตุครอบ องค์พระธาตุเจดีย์ที่ท้าวขาก่านสร้างขึ้น โดยให้ใหญ่กว่า สูงกว่าเก่า กว้าง 10 วา สูง 17 วา ใช้เวลาสร้างราว 4 ปี จึงเสร็จบริบูรณ์ เมื่อสร้างเสร็จท้าวอ้ายยวมก็ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2027 (เป็นผู้ครอบนครน่านอันดับที่ 23 )

พระเจ้าติโลกราช ได้ให้พระยาคำยอดฟ้า มาเสวยราชที่เมืองน่าน เป็นครั้งที่ 2 ราว พ.ศ. 2065 พระยาคำยอดฟ้า ก็ได้ร่วมกับพระสงฆ์เจ้า และประชาชน สร้าง “ พระยาล้านทอง” (พระประธานในวิหารหลวงข้างองค์พระธาตุ) และสร้างกำแพงรอบมหาธาตุ ก่อนที่จะกลับไปครองเมืองเชียงใหม่

ลุถึงปี พ.ศ. 2103 เจ้าพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ได้เป็นเจ้าพระยาเสวยเมืองน่าน เจดีย์หลวงที่ท้าวอ้ายยวมสร้างนั้น ได้ชำรุดผึพัง พระยาหน่อคำฯ จึงได้ทำการบูรณะสร้างซ่อมจนเจดีย์ดีดังเดิม และได้สร้างทางลอดกำแพงมหาธาตุ ยาว 1,300 วา กว้าง 60 วา และสร้างศาลาเข้าพระธาตุ วิหารน้อย และอุโบสถจนแล้วเสร็จ

มีเจ้าผู้ครองนครน่านอีกหลายพระองค์ ที่ได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุแช่แห้ง มาเป็นลำดับ จวบจน พ.ศ. 2446 ที่เป็นประวัติศาสตร์สำคัญ สมัยเจ้าพระเมืองราชา เป็นผู้ครองนครน่าน กองทัพม่าน (พม่า) เข้ามาตีเมืองน่าน ชาวบ้านชาวเมือง พระสงฆ์องค์เจ้า ต่างก็ต้องหลบลี้เข้าไปอยู่ตามป่า ถ้ำ ห้วย ดอย ผู้ครองเมืองก็หนีไปเมืองล้านช้าง ทหารม่านได้ทำลายบ้านเมือง รั้ว เวียงวัง จุดเผา ขุดลอกพระพุทธรูปวัดภูมินทร์องค์ตะวันตก (พระประธานในอุโบสถวัดภูมินทร์ เป็นพระพุทธรูปจตุรทิศ 4 องค์ หันพระปฤษฎางค์ชนกัน หลังคาโบสถเป็นจัตุรมุข) จนได้รับความเสียหาย รวมถึงยอดมหาเจดีย์ทิพย์ เจดีย์หลวงกลางเวียง บ้างก็พังวัดวาอาราม ทหารพม่าก็เผาจนสิ้น

ตามตำนาน เล่าว่า จากสงครามครั้งนั้น บ้านเมืองน่าน วัดวาอาราม ที่อยู่ที่กิน ได้รับความเสียหายจากสงครามเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านชาวเมืองตายเกลื่อนกลาด เป็นที่น่าสลดหดหู่ใจยิ่งนัก ทั้งเมืองน่าน จะเหลือก็เพียงแผ่นดินเท่านั้น

ต่อมาปี พ.ศ. 2557 เจ้าเมืองอังวะ ให้เจ้าฟ้าเมียวชา มาครองเมืองน่าน ได้สร้างแกนธาตุและทังเกิ้ง (ฉัตร) ขึ้นใส่ 7 ชั้น ลุถึง พ.ศ. 2322 เจ้ามโนยกครอบครัวหนีจากเมืองงั่ว มาตั้งบ้านเรือนอยู่เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง ทางทิศตะวันตก ได้บูรณะวัดแช่แห้งวัดจนเรียบร้อยดีงาม รวมถึงสร้างโรงอุดบสถให้กว้างออกไปอีกช่วงหนึ่ง มีการรื้อประตูโขง กำแพงพระธาตุ ทางทิศตะวันตก กำลังจะก่อสร้าง ทัพพม่าก็เข้ามาตีเมืองน่านอีก เจ้ามโนจึงต้องยุติการก่อสร้างและหนีไปเมืองเชียงแสน

พอราวๆ พ.ศ. 2331 เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ได้ครองเมืองน่าน โดยพระบรมราชโองการ พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย แต่งตั้งเป็นเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งขณะนั้นเมืองน่าน รกร้างว่างเปล่า ไม่มีชาวบ้านอยู่เลย ยอดพระเจดีย์แช่แห้งก็ถูกโจรมาหักเอายอด เกิ้ง (ฉัตร) ลงไปเสีย ศาสนาดูมัวหมอง จนถึง พ.ศ. 2332 เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญ พาเจ้านายท้าวขุนและรัฐบาล ไปร่วมกันแผ้วถางวัดหลวงแช่แห้ง บริเวณลานมหาธาตุ เริ่มต้นก่อสร้างประตูโขงขึ้นก่อน และตั้งนั่งร้านมหาธาตุ เอาแกนเหล็กอันเก่าลงมาทำใหม่ ต่อแกนเหล็กเพิ่มขึ้น เพิ่มเกิ้ง (ฉัตร) จาก 7 ชั้นเป็น 9 ชั้น แล้วสร้างรูปหงส์ตัวหนึ่งให้คาบเกิ้ง (ฉัตร) ขึ้น

บริเวณภายในวัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

ตามตำนานเล่าว่า เมื่อเกิ้ง (ฉัตร) ขึ้นยอดมหาธาตุ มีเหตุอัศจรรย์ 7 ประการเกิดขึ้น คือ
1. มีคชฌราชา (พระยาแร้ง) 4 ตัว มาร่อนอยู่ที่พระธาตุเจ้า
2. ได้ยินเสียงเหมือนเสียงนกยูงบินมาแต่ทางทิศใต้ แต่เมื่อเล็งดูก็ไม่เห็น
3. มีงูตัวหนึ่งตามเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเข้าไปในบริเวณมหาธาตุเจ้าแล้วกลับหายไป
4. ขณะเมื่อชักรูปหงส์คาบเกิ้งขึ้นนั้น อันว่ากลีบเมฆทั้งหลายก็กลับหายไปหมด ใต้พื้นฟ้าอากาศเบื้องบนก็สว่างสุกใสบริสุทธิ์มาก
5. ดาวยังท้องฟ้าก็ปรากฏให้เห็นเมื่อเที่ยงวันนั้นเอง
ุุุุุุ6. ฝนก็ตกลงมาเห็นเม็ดอยู่ แต่ก็ไม่ถูกคนทั้งหลายสักคน จะจับเม็ดฝนก็ไม่ได้
ึ7. ฝนตกนานจึง 2 วัน จึงหายไป

พอล่วงมาถึง พ.ศ. 2348 เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ (ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า) ได้ขุดขยายกำแพงพระธาตุเจ้าด้านใต้ออกเป้น 4 วา และต่อประตูโขงด้านตะวันออก ตะวันตก ด้านใต้ และประตูโขง บังเวียนแห่งพระธาตุ 2 ประตู ถึงพ.ศ. 2439 ได้เกณฑ์กำลังคน 500 คน ก่อสร้างรูปมหานาคยาวใหญ่ 2 ตัว ยาว 63 วา หัวแผ่พังพานสูง 10 ศอก ตั้งไว้สองข้างทางขึ้นไปลานองค์พระเจดีย์ มีการก่อศาลาบาตรล้อมรอบกำแพง และก่อรูปเป็นรูปท้าวจัตตุโลกบาลทั้ง 4 ด้าน กับบริวารทั้ง 2 รักษาพระธาตุทั้ง 4 มุม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงสุมนเทวราชครองเมืองน่าน ก็มาเล็งเห็นว่าวิหารหลวงวัดแช่แห้งเป็นที่เสื่อมโทรม ท่านก็ได้ให้ญาติวงศา และเสนาอำมาตย์บูรณะขึ้นใหม่ พอถึงเดือน 6 เพ็ญ วันอาทิตย์ เจ้าหลวงสุมนเทวราชพร้อมด้วยพระมเหสี เสนาอำมาตย์ทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก กระทำพุทธาภิเษกเบิกบานฉลองถวายเป็นทานไว้กับพระพุทธศาสนา บูชาพระมหาธาตุ มีพระสงฆ์มารับไทยทานสมัยนั้น 165 หัววัด เป็นภิกษุ 379 รูป เณร 749 รูป พอถึงเดือน 6 แรม 6 ค่ำ วันศุกร์เกิดแผ่นดินไหว ยอดมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้งก็หักลงมาห้อยอยู่

เมื่อเจ้าอชิตวงศ์ครองเมืองน่านในปี พ.ศ. 2379 ท่านก็เสด็จขึ้นเมืองแช่แห้ง ต่อแกนพระธาตุเจ้า ซึ่งแต่เดิมเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญสร้างมี 12 ศอก ท่านก็พร้อมเพรียงกับเจ้านาย ท้าวพระยาสังฆเจ้า นำเอายอดมหาธาตุที่คดไปทางตะวันออกลงมาดัด แล้วต่อให้ยาวอีก 4 ศอก รวมเป็น 16 ศอก ฉัตรและเกิ้งแต่เดิมมี 9 ใบ ก็สร้างเติมอีก 2 ใบ รวมเป็น 11 ใบ พอถึงเดือน 9 ขึ้น 8 ค่ำ ก็ทำพุทธาภิเษกเบิกบานฉลองทำบุญให้ทานเป็นมหากุศล ถึงเดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ ก็เสร็จ แล้วเจ้าอชิตวงษ์ก็เสด็จเข้าเมืองน่าน

เมื่อถึงปีพ.ศ. 2391 เจ้ามหาวงศ์ขึ้นครองเมืองน่าน ก็ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซ่อมแซมวัดต่างๆ สำหรับวัดพระธาตุแช่แห้งนั้น ท่านได้สร้างเจดีย์ขึ้น 4 องค์ ขึ้นเหนือปากขันหลวง มหาธาตุหลวงเจ้าภูเพียงแช่แห้ง 4 ด้าน ซ่อมแซมวิหารหลวง ศาลาบาตร ประตูโขลน ศาลานางป้อง ได้เชิญแกนเหล็กขึ้นใส่ เอาฉัตรและเกิ้งขึ้นแถมอีก 2 ใบ ดอกบัวเงิน 6 ดอก ดอกบัวคำ 6 ดอก สร้างกระดิ่งห้อย 10 ลูก สร้างพระพุทธรูป 3 องค์ แล้วทำบุญเฉลิมฉลอง

บริเวณภายนอกวัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

เจ้าผู้ครองนครน่าน ผ่านมาหลายองค์ ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะพระธาตุแช่แห้งต่อๆ กันมาเป็นลำดับ ทั้งที่มีการบันทึกและไม่มีการบันทึกไว้ จนถึงสมัยของเจ้าผู้ครองนครน่าน พระนามว่า “ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐ์มหันตไชยนันท์ บุรมหาราชวงศาธิบดี สุจริตจารราชานุภาวรักษ์ วิบูลย์ศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตร สถิตนันทราชวงษ์” พระเจ้านครน่าน เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้บริจาคทรัพย์ก่อสร้างสิ่งถาวรวัตถุ มีจารึกไว้ในศิลา ที่วัดแช่แห้งว่า..........

ได้ยกทุนทรัพย์อันสุจริตชอบ ซื้อปิตโลหตัน หลูบหุ้มมหาเจนยเกศาธาตุ (ซื้อทองจังโก๋ปิดหุ้มองค์เจดีย์) ปิดทับด้วยทองคำเปลว และสร้างพระวิหารหลวงใหม่ สร้างกำแพงศาลาบาตรด้วยอิฐ มุงด้วยดินอิฐเผา มีประตูโขงเข้าออก 4 ด้าน และสร้างใบเสมาล้อมรอบตีนธรณีมหาเจดีย์ สร้างรูปสิงโต 2 ตัว สร้างวิหารพระทันใจ สร้างพญานาคใหญ่ 2 ตัว สร้างถนนระหว่างนาค สร้างลานอารามเหนือภูเพียงแช่แห้ง รวมเป็นเงิน 48,699 บาท กับ 32 อัฐ โดยสร้างวิหารพุทธไสยาศน์ เมื่อ พ.ศ. 2450 ซ่อมแซมฐานพระไสยาสน์ มุงกระเบื้องไม้ยม เพดานลงรักปิดทอง ก่อกำแพงแก้วรอบ สิ้นเงิน 4,000 บาท

พ.ศ. 2549 พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ได้รับพระราชทานยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ “ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง”

พระธาตุแช่แห้งในปัจจุบัน ตั้งอยู่วัดพระธาตุแช่แห้ง ทางทิศตะวันออกของเมืองน่าน เป็นปูชนียสถานสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน มีอายุนานกว่า 600 ปี องค์พระธาตุเป็นสถูปแบบพื้นเมือง เดิมเป็นสถูปทรงลังกา แต่ได้หักพังและมีการปฏิสังขรณ์สืบกันมาหลายครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่างฝีมือและคตินิยมของแต่ละยุคสมัย

รูปแบบของเจดีย์ยังคงได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย หากมีการต่อเติมแก้ลายบางส่วน จากอิทธิพลศิลปะพม่า เช่น ฐานหน้ากระดานกลม แก้เป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยมตกแต่งเป็นลายกลีบบัวแทน

องค์ประกอบที่สำคัญโดยรอบวัดพระธาตุแช่แห้ง

ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
บริเวณวัด ประกอบไปด้วย : พระอุโบสถ พระธาตุชเวดากองจำลอง สร้างสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ โปรดให้สล่าน้อยยอด คนเมืองลำพูนมาก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ.2451 เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะเมีย
พระวิหารพุทธไสยยาสน์ : สร้างเมื่อง พ.ศ.2129 โดยนางแสดพลัว ชายาของพระยาหน่อเสถียรไชยสงครามเมืองน่าน (พ.ศ.2103-2134)
ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน : เป็นขุนนางที่พระเจ้าติโลกราชส่งมาปกครองเมืองน่าน
เป็นขุนนางที่มีความสามารถในการรบ สามารถชนะพวกแกวที่มารุกรานเมืองน่านได้อย่างเด็ดขาด เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองน่าน
บ่อน้ำทิพย์ : ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยมีเล่า่ต่อกันมาว่า "ในสมัยก่อนมีพระธุดงค์มาปฏิบัติธรรมและไม่มีน้ำดื่ม พระธุดงธ์จึงขุดบ่อน้ำขึ้น ซึ่งก่อนนั้น ชาวบ้านเรียกว่า "บ่อตุ๊ป่่่า (ตุ๊ป่า คือ พระธุดงด์)
ต้นไม้สำคัญ : ต้นไม้สำคัญที่มีอายุนับร้อยปี ดังเช่นต้นโพธิ์ต้นใหญ่ที่อยู่บริเวณลานหน้าวัด ต้นพิกุลที่อยู่บริเวณบันไดนาค ต้นมะม่วง ต้นตาลและต้นไม้สำคัญอื่นๆ บริเวณด้านหลังของวัดยังปรากฎร่องรอยของแนวคูน้ำคันดินลึกประมาณ 3 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร

เจดีย์ชเวดากองจำลอง พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
พระธาตุแช่แห้งตั้ง อยู่ที่ บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ทุกๆ ปี จะมีงานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ในราวขึ้น 11 ค่ำ – 15 ค่ำ เดือน (เดือน 6 เหนือ) หากจะนับจันทรคติก็อยู่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือประมาณเดือนมีนาคมทุกปี หรือที่เรียกว่า หกเป็ง
วัดพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่บนเนินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน
งานประเพณีหกเป็ง เป็นงานที่สำคัญที่คนเมืองน่านจะได้ไปปฏิบัติไหว้สา นมัสการองค์พระธาตุ ซึ่งจะมีพิธีสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม การปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาว การสวดมนต์เทศมหาชาติ รวมถึงการละเล่น ทางวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมานาน เช่น การแข่งขันประกวดการตี “ กลองแอว” การจ๊อย การซอ การอ่านค่าว เป็นต้น
งานประเพณีหกเป็ง วัดพระธาตุแช่แห้ง
ขบวนแห่ขึ้นพระธาตุแช่แห้ง ประเพณีหกเป็ง
ขบวนแห่ขึ้นพระธาตุแช่แห้ง ประเพณีหกเป็ง

ในงานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง คนน่าน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยว จะแห่แหนกันมาทำบุญ นมัสการองค์พระธาตุแช่แห้งกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์พระธาตุแช่แห้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ ตามคติการไหว้พระธาตุตามปีนักกษัตรของชาวล้านนา

คนเมืองน่าน และจังหวัดน่าน ได้ยกให้งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ และถือเป็นปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน ที่สำคัญอีกงานหนึ่งด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากแรงศรัทาของพุทธบริษัทและพุทธศาสนิกชนชาวน่านทั้งมวล อันถือเป็นมหากุศลยิ่งใหญ่

และวันนี้... องค์พระธาตุแช่แห้ง ได้ตั้งตระหง่านอยู่บนดอยภูเพียงแช่แห้ง แลดูเหลืองอร่ามตั้งแต่ยอดถึงฐาน คู่บ้านคู่เมืองของเมืองน่านสืบต่อไป อยู่ตราบนานเท่านานตลอดไป.......

วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง จ.น่าน

ปิดเทอมเปิดทัวร์ ครอบครัวสุขสันต์พากันท่องเที่ยวน่าน

ปิดเทอมเปิดทัวร์ : ครอบครัวสุขสันต์พากันท่องเที่ยวน่าน..แหล่งท่องเที่ยวน่านสำหรับเยาวชนและครอบครัว จังหวัดน่าน
หอศิลป์พิงพฤกษ์ อ.เมือง จ.น่าน
ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม ปัจจุบัน เราต่างมุ่งมั่นทำการงานและภารกิจในหน้าที่ของตนตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ในแต่ละวัน โอกาสที่พ่อแม่จะได้พบหน้าลูกมีเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ที่ซ้ำร้ายไปยิ่งกว่า บางครอบครัวกว่าพ่อแม่จะกลับ ลูกก็หลับไปเสียแล้ว ครอบครัวไหนที่โชคดีมีปู่ย่าตายายอยู่ด้วยในบ้าน ก็อาจจะช่วยดูแลให้ความอบอุ่นแก่ลูกหลาน โดยเฉพาะในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้าถึงทุกครัวเรือนในง่ายมากยิ่งขึ้น ภัยสังคมนอกจากจะมาจากข้างนอกแล้ว ปัจจุบันสื่ออินเทอร์เน็ตมักเป็นดาบสองคมสำหรับเด็กและเยาวชนที่รู้เท่าไม่ ถึงการณ์ โดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมสนทนาออนไลน์

เพราะครอบครัวเป็นหน่วยย่อยของสังคม หากทุกคนร่วมกันตระหนักในปัญหาดังกล่าว ควรร่วมกันสร้างสรรค์ครอบครัวให้อบอุ่น ด้วยการจัดสรรเวลาให้กับครอบครัว โดยเฉพาะการใช้เวลาอันมีค่าในวันหยุด เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวและการจัดทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะการท่องเที่ยวนั้น เป็นทั้งการพักผ่อนและการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ลานนาทัวร์ริ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เยาวชนและครอบครัวออก เดินทางท่องเที่ยวในวันหยุด เพื่อสร้างความรักความอบอุ่นขึ้นในครอบครัว และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต โดยมุ่งหวังให้ตระหนักว่า "การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต"

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน อ.เมือง จ.น่าน
ตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวน่าน สำหรับเยาวชนและครอบครัวรับปิดเทอม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ถนนผากอง ตรงข้ามกับวัดพระธาตุช้างค้ำ ใกล้กับวัดภูมินทร์ อ.เมือง จ.น่านเป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่าน เดิมเป็น “หอคำ” ซึ่งเป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๗ อาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งให้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่ง ชาติน่าน ลักษณะการจัดพิพิธภัณฑ์จะใช้แสงธรรมชาติเข้าช่วย ตัวอาคารโปร่งมีหน้าต่างโดยรอบ ผู้มาเที่ยวจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ทำให้เพลิดเพลินในการเดินชมสิ่งของที่จัดแสดง ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน ชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ งาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นงาช้างข้างซ้าย ยาว ๙๔ เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่ใหญ่สุดได้ ๔๗ เซนติเมตร มีน้ำหนัก ๑๘ กิโลกรัม ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๕ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง น่าน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ ๒๕ พานพระศรีเครื่องเงินลงยา ซึ่งเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท
รายละเอียดติดต่อ โทร ๐ ๕๔๗๑ ๐๕๖๑, ๐ ๕๔๗๗ ๒๗๗๗ หรือwww.thailandmuseum.com

จ๊างน่าน อาร์ตแกลลอรี่ อ.เวียงสา จ.น่าน
คุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) ติด วัดช้างค้ำ อ.เมือง จ.น่าน สร้างขึ้นใน ปีพ.ศ. ๒๔๐๙ เป็นเรือนไม้สักทองทรงปั้นหยาสองชั้น ประดับลวดลายไม้ฉลุ บริเวณบานรายรอบด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้หอม ไม้หายาก หลายต้นอายุเป็นร้อยปีเช่นเดียวกับวันเวลาของคุ้มแห่งนี้ คุ้มเจ้าราชบุตร สร้างขึ้นโดยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย เพื่อเป็นเรือนหอของท่านกับเจ้าแม่ศรีโสภา จากนั้น จึงยกคุ้มนี้ให้กับโอรสองค์สุดท้องคือ เจ้าราชบุตร(หมอกฟ้า ณ น่าน) ต่อมาเจ้าราชบุตรได้รื้อถอนคุ้มหลังเดิมและสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ย่อขนาดให้เล็กลง ปลูกสร้างในตำแหน่งเดิม ปัจจุบันนี้คุ้มเป็นสมบัติของเจ้าสมปรารถนาและเจ้าวาสนา ณ น่าน ผู้สืบเชื้อสายเจ้าผู้ครอบนคร เดิมเจ้าสมปรารถนาอยู่กรุงเทพฯ แต่หลังจากเออลี่รีไทร์ ท่านย้ายกลับมาอยู่ที่คุ้มเจ้าราชบุตรพร้อมกับสามีคือคุณสถาพร สุริยา คุ้มแห่งนี้ความจริงไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ แต่เพราะมีสารคดี รายการโทรทัศน์ นิตยสารมาถ่ายทำและเผยแพร่เรื่องราวออกไป เจ้าสมปรารถนาจึงเปิดคุ้มให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยม แต่ต้องแจ้งนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งเจ้าจะเป็นผู้นำชมด้วยตนเองพร้อมเล่าประวัติความเป็นมาของคุ้มและเรื่อง ราวของสายตระกูล ณ น่านให้ฟัง

ปัจจุบันเป็นที่พักของเจ้าสมปรารถนาณน่านยังคงเก็บรักษาของเก่าแก่ประจำ ตระกูล เช่น ดาบงาช้างศึก อาวุธโบราณ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รัชกาลที่๕ ซึ่งนอกจากภาพถ่ายที่หาดูยากที่อยู่ในห้องรับแขกแล้ว ที่นี่ยังเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อนไว้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ อาวุธโบราณ ถ้วยชามเครื่องแก้ว ตู้เย็นแบบใช้น้ำมันก๊าด เตาีรีดใช้ถ่าน ถ้าเดินไปทางด้านหลังในส่วนของครัว ยังได้เห็นเครื่องครัวสมัยคุณตาคุณยาย และไม่ว่าจะถามถึงข้าวของชิ้นไหน ผู้เป็นเจ้าของเรือนก็มีเรื่องเล่าอันเปี่ยมด้วยความทรงจำเพราะท่านเกิดและ เติบโตมา ณ เรือนไม้หลังนี้
นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชม ควรติดต่อเข้าชมคุ้มล่วงหน้ากับเจ้าบ้าน โทร. 054-710-605, 089-6704291

คุ้มเจ้าราชบุตร อ.เมือง จ.น่าน
แหล่งเตาเผาและเครื่องเคลือบบ้านบ่อสวก บ้านบ่อสวก อ.เมือง จ.น่าน ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมือง น่าน มีรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง คาดว่าเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาจากบ้านบ่อสวกเคยได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะได้ขุดพบตามแหล่งฝังศพของคนในสมัยก่อน โดยเฉพาะแถบเทือกเขาในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดตาก และกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าการผลิตเครื่องเคลือบที่บ้านบ่อสวกเริ่มขึ้นและพัฒนาในสมัยเจ้า พระยาพลเทพฤาชัย (พ.ศ.๒๐๗๑-๒๑๐๒) ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของเมืองน่าน วิทยาการเตาเผาและเครื่องเคลือบเมืองน่านได้รับจากล้านนา เช่น จากกลุ่มสันกำแพง กลุ่มกาหลง ซึ่งเป็นกลุ่มเตาใกล้นครเชียงใหม่ เตาเผาแห่งนี้ได้รับการสำรวจและศึกษาเบื้องต้น โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นแหล่งโบราณคดีชุมชนอยู่ที่บ้านบ่อสวกพัฒนา หมู่ ๑๐ ตำบลบ่อสวก ห่างจากตัวเมือง ๑๗ กิโลเมตร แหล่งที่มีการค้นพบเตาเผาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ตั้งอยู่ในเขตบ้านพักของ จ.ส.ต.มนัส และคุณสุนัน ติคำ บริเวณที่พบเตาอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะของเตาหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อสะดวกในการขนส่ง ภายในเป็นโพรงใหญ่เพื่อให้คนเข้าไปข้างในได้ เตามีความลาดเอียงและมีปล่องระบายอากาศอยู่ด้านบน เตาโบราณจำนวน ๒ เตาได้รับการบูรณะ และก่อสร้างอาคารถาวรคลุม ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้าน จ่ามนัสจัดเป็นนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งเตาเผา การขุดค้นศึกษาแหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวก ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการทำงานวิจัยทาง “โบราณคดีชุมชน” โดยการร่วมมือระหว่างชาวบ้าน องค์กรเอกชน ส่วนราชการในท้องถิ่น และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความงอกงามทางความรู้และความเข้มแข็งของชุมชนไปพร้อมกัน ในอนาคตจะมีการจัดตั้งกองทุนโบราณคดีชุมชนบ้านบ่อสวก และนำเงินจากกองทุนเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เช่น การฟื้นฟูอาชีพเครื่องปั้นดินเผา การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หมู่บ้าน และการอบรมมัคคุเทศก์ชุมชน
แหล่งเตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก อ.เมือง จ.น่าน
หอศิลป์ริมน่าน ตั้ง อยู่บนถนนสาย น่าน-ท่าวังผา ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๐ ก่อตั้งโดย วินัย ปราบริปู ศิลปินชาวเมืองน่าน มีพื้นที่ประมาณ ๑๓ ไร่ ติดริมน้ำน่าน อาคารชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนของศิลปินรับเชิญ ชั้นสองจัดแสดงผลงานของวินัย ปราบริปู ผลงานชุดสำคัญก็คือ แรงบันดาลใจจากมรดกน่าน ซึ่งอาจารย์วินัย ยังตั้งใจว่าในอนาคต อยากให้หอศิลป์เป็นแหล่งศึกษาประวัติจิตรกรรมฝาผนังด้วย ถ้าใครอยากศึกษาเพิ่มเติมหรือสนใจรายละเอียด ก็สามารถซื้อหนังสือกลับไป เป็นหอศิลป์ร่วมสมัยของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งนอกจากแสดงนิทรรศการแล้ว แต่ละปีอาจารย์วินัยยังร่วมมือกับครูศิลปะในพื้นที่จัดค่ายสอนศิลปะให้กับ เด็กๆ สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหอศิลป์แห่งนี้ ที่ต้องการเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในเมืองน่านและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งบางที ภาพในแกลลอรี่ที่เขาเห็น อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กคนหนึ่งตอบตัวเองได้ว่า เขาชอบหรือฝันอยากทำอะไร..ก็เป็นได้
เปิดให้เข้าชม : เปิดทุกวันยกเว้นวันพุธ
ตั้งแต่เวลา : ๐๙.๐๐ น. - ๑๗.๐๐ น.
ค่าเช้าชม : คนละ ๒๐ บาท
สอบถามโทร : 054-798046

บ้านกะหล๊กไม้ อ.เวียงสา จ.น่าน

หอศิลป์พิงพฤกษ์ ศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่าน ตั้งอยู่บนเลข ที่ 16   ม. 10 บ้านนาท่อ  ต.ไชยสถาน   อ.เมืองน่าน   ออกจากตัวเมือง ใช้เส้นทาง ถนนสายน่าน - พะเยา ก่อนถึง กม. ที่ 4  เลี้ยวซ้ายทางเข้าบ้านนาท่อ ไป 1 กม. มีป้ายบอกทางตรงซอย 3 เลี้ยวขวามือก่อนถึงหนองนาท่อ เลี้ยวขวาเข้าไป 50 เมตร สังเกตุด้านขวามือก็จะเห็นหอศิลป์ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับตัวบ้าน เป็นหอศิลป์ที่ เก็บรวบรวมผลงานศิลปะส่วนตัวของ อ.สุรเดช  กาละเสน ( ปัจจุบันเสียชีวิต ) เป็นหอศิลป์ขนาดเล็กบนพื้นที่ 1 งาน ภายในบรรยากาศที่อบอุ่น   จัดแสดงผลงานของ อาจารย์สุรเดช  กาละเสน ศิลปินเจ้าของผลงานจิตรกรรมฝาผนัง ( สมัยใหม่ )ตำนานประวัติศาสตร์เมืองน่าน ในอุโบสถวัดมิ่งเมือง ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในจังหวัด ที่ยังคงเอกลักษณ์รูปแบบศิลปะเมืองน่านในอดีต หอศิลป์พิงพฤษ์ มีที่มา.... จัดเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะ อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองน่าน ประมาณ  5  กม. เปิดให้ชมและศึกษาทุกวัน บริเวณโดยรอบร่มรื่น น่าพักผ่อน น่าไปเยี่ยมชม หรือมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานฝีมือการทำผ้ามัดย้อมสีจาก ธรรมชาติ ในยามว่าง เสาร์ อาทิตย์
สอบถามโทร : คุณโสภา กาละเสน โทร. 054-774751, 089-559-7815

พิพิธภัณฑ์จักรยาน(เฮือนรถถีบ) อ.เวียงสา จ.น่าน
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์กับวัดโป่งคำ วัดโป่งคำ  ตั้งอยู่เลขที่  ๒๐  บ้านโป่งคำ  ตำบลดู่พงษ์  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน 
ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  โดยวัดโป่งคำแห่งนี้  สันณิฐานว่า  ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปีพุทธศักราช  ๒๔๔๑  ซึ่งการก่อสร้างวัดโป่งคำเป็นธรรมเนียมของพุทธศาสนิกชนล้านนา  ที่ปรากฏว่า“  มีแม่น้ำที่ไหน  มีคนที่นั้น  มีคนที่ไหน  มีชุมชนที่นั้น  มีชุมชนที่ไหน  มีวัดที่นั้น”
การก่อสร้างวัดโป่งคำก็เฉกเช่นกัน  กล่าวคือ  เมื่อมีผู้คนได้มาร่วมกันจัดตั้งเป็นชุมชนเป็นหมู่บ้าน  โดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านโป่งคำ”  เมื่อประมาณพุทธศักราช  ๒๔๔๐  ต่อมาชุมชนบ้านโป่งคำต้องการมีวัดเป็นของตนเอง  เพื่อให้เป็นที่ทำบุญ  จัดกิจกรรมนันทนาการของชุมชน  จึงมีการจัดตั้งวัดขึ้น  โดยให้ชื่อวัดและชื่อหมู่บ้านเป็นเดียวกัน  คือ  “ วัดโป่งคำ”
นอกจากนี้วัดโป่งคำก็ยังมีปูชนียวัตถุ  คือ  พระประธานในพระวิหาร  เป็นพระพุทธรูปแบบปูนปั้น (สันณิฐานว่าเป็นฝีมือสกุลช่างชาวบ้าน) สร้างประมาณเมื่อ  พุทธศักราช  ๒๔๖๐  และยังมีพระพุทธรูปต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันวัดโป่งคำ  ภายใต้การปกครองและการบริหารของท่านพระครูสุจิณนันทกิจ ( พระอาจารย์สมคิด  จรณธมฺโม ) ได้เปิดวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน  เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีความกินดีอยู่ดีและสามารถมีความเป็นอยู่ อย่างยั่งยืนได้  โดยพระอาจารย์สมคิด  จรณธมฺโม  ได้มองเห็นปัญหาของชุมชนที่เกิดขึ้น  และพยายามให้คำแนะนำ  ช่วยเหลือ  และแสวงหาทางออกให้กับชุมชน  จึงมีการจัดตั้ง “ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนบ้านโป่งคำ”  โดยเอาวัดโป่งคำแห่งนี้เป็นเวทีที่แสดงออกและเวทีประชาคมของชุมชน  โดยมีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ  เพื่อแสวงหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน  เพื่อพัฒนาให้เห็นศักยภาพของชุมชน เช่น กลุ่มย้อมผ้าสีธรรมชาติ,กลุ่มเพาะเห็ด, กลุ่มผู้สูงอายุ  รวมกลุ่มเป็นกลุ่มตีเหล็ก, กลุ่มจักสาน,กลุ่มเกษตรอินทรีย์,กลุ่มเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนโป่งคำ, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนา,กลุ่มเครือข่ายแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

โดยชุมชนบ้านโป่งคำ ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ  เอกชน  และองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ  เพื่อมาต่อยอดทางความคิดและพัฒนาศักยภาพของชุมชน  ทั่งนี้ชุมชนบ้านโป่งคำ  ได้น้อมรับพระราชดำรัส  เรื่อง “ทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  มาปฏิบัติภายในชุมชน  เพื่อให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง  พอดี  พอกิน  และพอใจ  ในวิถีชีวิตแบบชุมชนพอเพียง  โดยชุมชนโป่งคำได้รับโครงการพัฒนา  คือโครงการขยายผล  โครงการหลวงโป่งคำ  ทั่งนี้ชุมชนวัดโป่งคำก็ได้เปิดศูนย์การศึกษา  เรียกว่า  “ มหาวิทยาลัยชีวิต” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  เพื่อพัฒนาบุคลากรในชุมชนเขตอำเภอสันติสุข  ให้เป็นแกนนำในการขยายเขตพัฒนาต่อไป

อารามเวฬุวัน ศึกษาธรรม เสพศิลป์ พักผ่อนทางใจบนยอดดอย อารามเวฬุวัน ตั้งอยู่บ้านศรีนาม่าน อำเภอสันติสุุข จังหวัดน่าน เล้นทางสันติสุข - หลักลาย ห่างจากตัวอำเภอ 3 กิโลเมตร มีพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ให้บูชา พร้อมด้วยมุมแสงที่น่าหลงใหลชมถ่ายภาพ พระธาตุแห่งนี้กำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาธรรม และพักผ่อนทางใจ

ติดต่อสอบถามเรื่องท่องเที่ยวที่ : โทร 085-0545518 เว็บไซต์: www.go2santisuk.com,Email: wuttichai_lonan@hotmail.com

เสาดินนาน้อยและคอกเสือ อ.นาน้อย จ.น่าน
จ๊างน่านmilk club อ.เวียง สา จ.น่าน ด้วยความเป็นคนรักศิลปะของเจ้าของร้าน จ๊างน่าน จึงมีส่วนผสมระหว่างร้านนมกับแกลลอรี่ศิลปะเข้ารวมไว้ด้วยกัน โดยด้านล่างของร้านจะให้บริการเครื่องดื่ม(เน้นนมและเครื่องดื่มที่ไม่มี แอลกอฮอล์) มีลานข้างร้านเป็นที่จอดรถโดยสารซึ่งนำมาดัดแปลงให้เป็นอีกส่วนหนึ่งของร้าน ที่สามารถนั่งรับประทานอาหารเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศได้ ส่วนด้านบนจัดเป็นส่วนแสดงงานศิลปะ
จ๊างน่าน ตั้งอยู่ที่ ต.กลางเวียง อ.เวียงสา(ร้านวาสนาพาณิชย์เดิม) โทร. 054-781521 เว็บไซต์ www.chang-nan.com


บ้านกะหล๊กไม้
อ.เวียงสา จ.น่าน ชม ภูมิัปัญญาล้านนาโบราณที่บ้านอาจารย์ระดม อินแสง ผู้ตระหนักค่าของภูมิปัญญาล้านนาโบราณ ถึงขั้นดัดแปลงบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาล้านนา ดนตรีล้านนา และกะหล๊กไม้ที่ปลาในลำน้ำน่าน “กะ หล๊กไม้” ในอดีตใช้ตีแจ้งเหตุร้าย หรือเป็นสัญญาณนัดแนะผู้คนในชุมชนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่วันนี้ ใช้ตีเพื่อส่งเสียงเรียกปลาให้ขึ้นมากินอาหาร โดยเคาะวันละ 2 เวลา คือก่อนไปโรงเรียนและหลังเลิกเรียน คนในบ้านจะเอาอาหารปลาใส่ตระกร้าที่แขวนไว้กับรอก จากนั้นจึงเคาะกะหล๊กเป็นจังหวะ ปลาที่ได้ยินเสียงเรียกก็จะว่ายมารอกินอาหารจากตะกร้าชักรอก เป็นการสร้างเงื่อนไขไม่ต่างจากการสั่นกระดิ่งให้อาหารสุนัข บ้ากะหล๊กไม้เป็นสัญลักษณ์ของการปกปักรักษาปลาในลำน้ำน่าน ให้มันได้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เพื่อชาวประมงพื้นบ้านมีอาชีพทำกินอย่างยั่งยืน
ที่บ้านกะหล๊กไม้ ยังเป็นโรงเรียนสอนภาษาล้านนาให้เด็กๆ และชาวบ้านในชุมชนรวมทั้งยังเป็นที่เรียนดนตรีพื้นเมืองสำหรับให้เด็กๆ และเยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าวัฒนธรรมท้องถิ่น

เฮือนรถถีบมะเก่า (พิพิธภัณฑ์บ้านจักรยาน) เยือนเฮือนรถถีบมะเก่า หรือ จักรยาน ซึ่งมิใช่สุสานรถจักรยานอย่างที่หลายคนคิด แต่คือพิพิธภัณฑ์จักรยานที่รวบรวมจักรยานเก่าแทบทุกรุ่น มีทั้งจักรยานพับ จักรยานล้อโต จักรยานสองตอน ฯลฯ ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ครอบครัวเต็งไตรรัตน์ เดิมเปิดร้านซ่อมรถจักรยานแลกกับข้าวเปลือกจากชาวบ้านในชนบท ภายหลังได้เป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานนำเข้าจากยุโรปหลายยี่ห้อในจังหวัดน่าน สมัยก่อน การขนส่งจักรยานมาขายจะส่งเป็นชิ้นส่วนย่อย เมื่อมาถึงปลายทางที่จังหวัดน่าน ร้านเต็งไตรรัตน์จึงต้องลงมือประกอบชิ้นส่วนเอง ชีวิตในวัยเด็กของคุณสุพจน์จึงคลุกคลีและคุ้นเคยกับจักรยานเหมือนเป็นของ เล่นชนิดหนึ่ง จากความรู้และทักษะเกี่ยวกับรถจักรยานที่มีมาแต่วัยเด็ก คุณสุพจน์ เต็งไตรรัตน์ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเก็บรวบรวมรถจักรยานโบราณที่ผลิตในโซนประเทศยุโรป ไว้ในเฮือนรถถีบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลังและเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อ เนื่อง

ติดต่อสอบถามเรื่องท่องเที่ยวที่
: กลุ่มฮักเมืองเวียงสา คุณเฉาก๊วย โทร.089-1928060 คุณหยก โทร. 089-8984404

กลุ่มเยาวชนวัดโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน
เสาดินนาน้อย(ฮ่อมจ๊อม) ตามรอยมนุษย์ยุคหินเก่า อยู่ที่ตำบลเชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน ห่างจากตัวเมืองน่าน 60 กิโลเมตร จากอำเภอนาน้อยมีทางแยกไปตามเส้นทางหมายเลข 1083 ประมาณ 6 กิโลเมตร เสาดินนาน้อย หรือ ฮ่อมจ๊อม เป็นเสาดินที่มีลักษณะแปลกตาคล้าย “แพะเมืองผี” ที่จังหวัดแพร่ จาก หลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่าเสาดินนาน้อยเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ในยุคเทอร์เชียรีตอนปลาย (late tertian) ประกอบกับการกัดเซาะของน้ำและลมตามธรรมชาติ นัก ธรณีวิทยาสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 30,000-10,000 ปีมาแล้ว เคยเป็นก้นทะเลมาก่อน และจากหลักฐานการค้นพบกำไลหินและขวานโบราณที่นี่ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน) แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้อาจเคยเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ยุคหินเก่า

หมู่บ้านประมงปากนาย
ปากนาย อ.นาหมื่น จ.น่าน เดิมเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำน่าน หลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ หมู่บ้านปากนายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีลักษณะเหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยทิวเขาเขียวขจี ชาวบ้านปากนายประกอบอาชีพประมง มีแพร้านอาหารให้เลือกชิมปลาจากเขื่อน เช่น ปลากด ปลาบู่ ปลาคัง ปลาแรด ปลาทับทิม เป็นต้น และบางแห่งทำเป็นห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จากบ้านปากนายสามารถเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง ในช่วงนอกฤดูฝน จะมีแพลากไปวัดปากนาย สามารถนั่งรับประทานอาหารบนเรือได้ ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง และมีแพขนานยนต์ข้ามฟากไปยัง อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

การเดินทาง อยู่ที่ตำบลนาทะนุง ห่างจากตัวจังหวัด ๙๖ กิโลเมตร ใช้เส้นทางน่าน-เวียงสา-นาน้อย จากอำเภอนาน้อย มีทางแยกไปถึงอำเภอนาหมื่นราว ๒๐ กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๓๓๙ เป็นทางลาดยางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาอีกประมาณ ๒๕ กิโลเมตร จึงถึงบ้านปากนาย

ที่พัก / ร้านอาหาร
มีบ้านพักของ อบต.นาหมื่นจำนวน 8 หลัง (อยู่ริมเขื่อน)
มีแพพักของเอกชนหลายแพ อาทิ แพสองบัว, แพสินไทย และแพอื่นๆอีกนับสิบแพ

วัดเวฬุวัน อ.สันติสุข จ.น่าน
คู่มือเลือกแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว
1. ควรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเหมาะสมสำหรับทุกเพศทุกวัย เพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวจะได้ท่องเที่ยวพักผ่อนร่วมกันอย่างมีความสุข
2. ควรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่การเดินทางเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย เส้นทางไม่ขึ้นเขาสูงชัน ไม่ตอ้งลงเรือฝ่าคลื่นลมไปไกลฝั่ง หรือไม่สมบุกสมบันจนเด็กหรือผู้สูงอายุต้องเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง
3. ควรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น สะดวกในเรื่องที่พัก อาหารการกิน
4. การขับรถเที่ยวที่มีสมาชิกในครอบครัวไปกันพร้อมหน้า ทั้งผู้ใหญ่ เด็กๆ และผู้สูงอายุนั้น ควรวางแผนการขับไว้ล่วงหน้า เช่น คำนวณระยะทางสู่จุดหมายปลายทางว่าต้องใช้เวลากี่ชั่วโมง ควรแวะพักกินอาหารที่ไหน ระหว่างเส้นทาง ควรแวะพักเข้าห้องน้ำตามปั้มน้ำมันที่สะอาดและมีจุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุผ่อนคลายและได้เดินยืดเส้นยืดสายบ้าง
5. การจัดโปรแกรมท่องเที่ยวครอบครัวในแต่ละทริปนั้น ไม่ควรย้ายที่พักแรมบ่อยครั้ง เพราะจะสร้างความไม่สะดวกต่อเด็กและผู้สูงอายุ และต้องเสียเวลาไปกับการเก็บสัมภาระขนข้าวของบ่อยครั้ง ทางที่ดีควรหาที่พักเหมาะๆ ปักหลักอยู่ที่นั่น แล้วใช้เวลาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว ให้มากที่สุด
6. หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวโดยการซื้อบริการนำเที่ยว ควรเลือกโปรแกรมที่ไม่เหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางมากเกินไป ไม่ควรเลือกโปรแกรมที่อัดแน่นด้วยแหล่งท่องเที่ยว แต่ไปดูไปชมได้ไม่่นานก็ต้องถูกต้อนขึ้นรถเพื่อเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยว ต่อไป สุดท้าย เวลาส่วนใหญ่กลับต้องเสียไปกับการนั่งอยู่บนรถ
ึ7. เมื่อจะเดินทางท่องเที่ยวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว ซึ่งอาจจะมีเพียงครั้งสองครั้งในแต่ละปี หากเป็นไปได้ควรเลือกเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดา โดยใช้การลาพักร้อนในช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม หรือในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่่ไม่ใช่วันนักขัตฤกษ์ ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน หรือในช่วงเทศกาลหยุดยาวต่างๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนจะออกเดินทางท่องเที่ยวกันมากมาย ต้องแย่งกันกินกันเที่ยว แย่งกันถ่ายภาพตามมุมสวยๆ เพราะฉะนั้น จะเที่ยวทั้งทีอย่างมีความสุขสุดๆ กับครอบครัว ก็ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาดังกล่าว

หอศิลป์ริมน่าน อ.เมือง จ.น่าน
้เีรียนรู้โลกกว้างตั้งแต่เล็ก : สิ่งควรรู้เสริมสร้างนิสัยการเรียนรู้
เยาวชน เป็นวัยแห่งการเจริญเติบโตเป็นวัยแห่งการศึกษาเรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้ในหลักสูตรในระบบ การศึกษาและการเรียนรู้นอกตำรา การเดินทางท่องเที่ยวนั้น เป็นการเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโลกกว้างที่ดียิ่ง หากเด็กและเยาวชนที่ได้รับการปลูกฝังให้มีนิสัยรักการเดินทางท่องเที่ยว และรู้จักที่จะท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้โลกกว้างอย่างถูกวิธี โดยมีการชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่แล้ว เยาวชนผู้นั้นก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีหูตากว้างไกล และเป็นผู้ที่มีนิสัยรักการเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น เรามาช่วยกันส่งเสริมให้พวกเขาเป็นนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ด้วยวิธีง่าย ๆ กันดีกว่า
การพา เด็กๆ ออกไปเดินทางท่องเที่ยวนั้น วัยที่เหมาะสมนาจะเริ่มจากช่วงอายุ 3 ขวบขึ้นไป เพราะหากเล็กกว่านั้น เด็กๆ อาจบอบบางเกินกว่าจะเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ และยังเล็กเกินไปที่จะช่วยเหลือตัวเอง หรือเล็กเกินไปสำหรับการสนใจ เรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ จากการเดินทางท่องเที่ยว
ควร เลือกแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับวัยของนักเดินทางตัวน้อย ซึ่งมักจะต้องพิจารณาตามความสนใจของเด็กในแต่ละวัย ในปัจจุบันก็มีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาเรียนรู้ของเด็กๆ รูปแบบทันสมัยมากมาย เช่น สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้ มิใช่พิพิธภัณฑ์นิ่งๆ แบบโบราณอีกต่อไป แต่มักจะสร้างขึ้นให้เด็กๆ มีโอกาสทดลอง จับต้อง เรียนรู้ได้ด้วยการสัมผัส
หาก พาเด็กๆ ไปเที่ยวทะเลหรือแม่น้ำ ควรเลือกหาดที่มีความลาดชันน้อย ประเภทเดินน้ำลงไป 100-200 เมตร ระดับน้ำก็ัยังไม่ลึก ไม่เป็นอันตราย ซึ่งจะปลอดภัยกับเด็ก และผู้ปกครองก็จะได้ปล่อยให้เด็กสนุกสนานกับท้องทะเลและสายน้ำ ได้อย่างเต็มที่
พ่อ แม่ ควรมีกิจกรรมเรียนรู้โลกกว้างร่วมกันกับลูกๆ เช่น เ่ล่นน้ำ ก่อปราสาททราย พายเรือด้วยกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และเป็นผู้ชี้แนะแนวทางแห่งการเรียนรู้และเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการ เดินทางไปสู่เด็กๆ
พ่อ แม่ควรเป็นแบบอย่างนักเดินทางที่ดีสำหรับลูกๆ เป็นนักเดินทางที่กระหายต่อการเรียนรู้ เป็นนักเดินทางผู้มีความรักในธรรมชาติและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการไม่ทิ้งขยะในแหล่งท่องเที่ยว ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยว มีวินัยและเคารพสิทธิของผู้อื่นที่ใช้แหล่งท่องเที่ยวร่วกัน

ตำนานเวียงป้อ ตำนานอำเภอเวียงสา ประตูหน้าด่านของจังหวัดน่าน

เวียงป้อ (อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน) ตาม ตำนานที่ไม่มีประวัติที่ทางราชการจัดทำขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ได้มีคนรุ่นเก่าและอดีตข้าราชการรุ่นเก่าๆ เ่ล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานสำคัญทางโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุ ซึ่งพอจะเป็นที่ยืนยันและเชื่อถือได้ กล่าวว่า อำเภอเวียงสา เดิมชื่อ "เวียงป้อ-เวียงพ้อ" คำว่า เวียงพ้อ หรือ "เวียงป้อ" นั้น คำว่า "เวียง" หมายถึง เมือง ส่วนคำว่า พ้อ หรือ "ป้อ" นั้น ความหมายทางภาษาเหนือ หมายถึง การรวมกันเข้าเป็นกลุ่มเพื่อเตรียมการทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
(การออกเสียงตัว พ ของทางภาคเหนือมักจะออกเสียงเป็นตัว ป)

เวียงป้อ หรือ เวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน
ตามตำนานเล่าว่า "เมื่อครั้งแต่โบราณนั้น เมื่อก่อนนั้น เมืองป้อมีผู้คนไม่มากนัก ภูมิประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นป่าละเมาะและป่าดงดิบ เป็นที่อยู่ของ
สัตว์ป่ามากมายหลายชนิด มีสัตว์ตัวใหญ่รูปร่างลักษณะคล้ายวัวกระทิง แต่สูงกว่าและดุร้ายมาก ชอบออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของสัตว์
ประเภทนี้ก็คือ ซากศพของคนที่ถูกฝังไว้ บางครั้งก็ไล่ขวิดคนเดินทางกลางคืนตายและจะดูดเลือดกินเป็นอาหาร ชาวบ้านเรียกว่า "วัวโพง"
จึงเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ไม่กล้าออกไปทำงานในเวลาพลบค่ำ จึงมีการตั้งเวรยามเฝ้าหมู่บ้าน โดยมีการก่อกองไฟรอบๆ
หมู่บ้าน แต่ก็ยังมีข่าวการทำร้ายชาวบ้านอยู่อย่างหนาหู ชาวบ้านจึงประชุมกันจัดทำรั้วไม้แน่นหนา แล้วให้ชาวบ้านมารวมกันอยู่เป็นกลุ่มในเวลากลางคืน เพื่อดูแลความปลอดภัยจากวัวโพง พอเวลาใกล้พลบค่ำ ยามจะเคาะกะหลก (เกราะไม้) ให้ชาวบ้านมาป้อกัน (รวมกัน) ในรั้วกำแพงไม้แก่น ณ ที่ราบบริเวณปากแม่น้ำสา ทำเช่นนี้อยู่หลายปี ต่อมาก็มีการตั้งชายฉกรรจ์เป็นกลุ่มไปไล่ล่าวัวโพง แต่ก็ไม่มีใครฆ่าวัวโพงได้เลย นานเข้าวัวโพงก็ไม่มาอาละวาดและเลือนรางไป แต่คำว่า "ไปป้อกันในกำแพงไม้แก่น" จึงกลายมาเป็นชื่อเมือง เรียกว่า "เมืองป้อ" นั่นเอง

เวียงป้อ(เวียงสา) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองน่าน ห่างจากเมืองน่าน 25 กิโลเมตร มีหลักฐานการตั้งบ้านเรือนมานานแล้ว จากการศึกษา
ในยุคหินและเครื่องมือหินต่างๆ เช่น หินตุ่น ขวานหิน มีดหิน ตลอดถึงเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องใช้ต่างๆ ก็ปรากฎว่ามีคนอาศัยอยู่บริเวณที่เป็น
ที่ตั้งเมืองป้อนี้แล้ว และปรากฎหลักฐานซากวัดร้างต่างๆ เช่น
วัดบุญนะ สถานที่ตั้งตลาสดเทศบาลเวียงสา
วัดต๋าโล่ง อยู่ห่างจากวัดผาเวียงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร
วัดมิ่งเมือง สถานที่ตั้งสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเวียงสา
วัดป่าแพะน้อย อยู่ห่างจากวัดวิถีบรรพต ไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร
วัดสะเลียม อยู่ห่างจากวัดสะเลียมใหม่ (ตำบลยาบหัวนา) 800 เมตร
วัดหินล้อม อยู่ห่างจากวัดสะเลียมใหม่ (ตำบลยาบหัวนา) 2 กิโลเมตร

เวียงป้อ เป็นเมืองที่อยู่ใกล้นครน่าน ผลกระทบและอิทธิพลด้านต่างๆ มักได้รับพร้อมกันกับนครน่าน และเนื่องจากการเดินทางติดต่อ
โดยทางบกใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-8 ชั่วโมง ถ้าหากขี่ม้าเร็วก็จะประมาณ 2-3 ชั่วโมง การเดินทางติดต่อทางน้ำใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง
ที่ตั้งของเวียงป้อ มีภูมิประเทศล้อมรอบไปด้วยภูเขา ซึ่นคนพื้นบ้านเรียกว่า "ดอย" มีดอยต่างๆ รอบเวียงป้อ ดังนี้
ดอยนางนอน เป็นดอยทอดยาวจากทางทิศตะวันตกลงไปทางทิศใต้ลักษณะคล้ายหญิงสาวนอน
ดอยผาง่าม เป็นเทือกดอยทอดยาวจากทิศใต้ไปทางทิศตะวันออก ยอดสูงสุดมีลักษณะคล้ายสองง่าม
ดอยภูคำ เป็นเทือกดอยทอดยาวมาจากทิศตะวันออกขึ้นไปทางทิศเหนือ ลักษณะสูงกว่าดอยลูกอื่นๆ
ดอยพระบาตรหรือดอยข้าวบาตร เป็นดอยที่อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของบ้านใหม่ดินแดง ดอยลูกนี้ใช้เป็นที่พักอาศัยเมื่อมีอุทกภัยครั้งใหญ่หลายครั้ง
ดอยภูเพียงหรือดอยภูเปียง เป็นดอยเชื่อมต่อกับดอยพระบาตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านภูเพียง
ดอยเขาแก้ว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือในเขตพื้นที่ตำบลน้ำปั้ว

ตามที่เมืองป้อตั้งอยู่ที่ราบระหว่างดอยต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังทำให้เกิดลำน้ำหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ได้แก่ ลำน้ำแม่สาคร ลำน้ำว้า ลำน้ำสา ลำน้ำแหง ลำน้ำมวบ ลำน้ำสาลี่ ตลอดถึงสายน้ำน่าน และสายน้ำว้าเดิมที่เปลี่ยนเส้นทางเดินกลายสภาพเป็นหนองน้ำซึ่งมีอยู่มากมาย ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำครก" และสายธารอื่นๆ อีกมากมายที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน จึงทำให้เมืองป้อเมืองเล็กๆ แห่งนี้อุดมสมบูรณ์

เมืองป้อ เคยเป็นหัวเมืองประเทศราช ขึ้นกับเมืองน่าน พงศาวดารน่านได้บันทึกไว้กล่าวถึงเมืองป้อ ดังนี้
1. สมัยพระยาหน่อเสถียรไชยสงครามปกครองนครน่าน เจ้าผู้ครองนครน่าน ลำดับที่ 35 ได้ทราบตำนานวัดพระธาตุแช่แห้ง
จึงได้เชิญให้เจ้าเมืองป้อไปเป็นหัวหน้าช่างไม้บูรณะวัดพระธาตุแช่แห้ง ราว พ.ศ.2123-2127 นับเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเวียงป้อเป็นที่ขึ้นตรงต่อน่าน
2. ใน พ.ศ. 2139 พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 36 ก็ได้เสด็จเมืองป้อและได้สร้างวัดดอนแท่นไว้เป็นอนุสรณ์
3. เมื่อ พ.ศ.2243-2251 เมืองน่านและเมืองประเทศราชถูกพม่าเผา ทำลาย เสียหายทั้งเมือง ตลอดถึงวัดวาอาราม ผู้คนถูกฆ่าจำนวนมาก
ชาวบ้านแตกตื่นหนีภัยสงครามเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ในถ้ำ ทิ้งเมืองร้าง เมืองป้อก็ได้รับผลของสงคราม
เช่น หลักฐานมีวัดร้างซึ่งสร้างบนที่ดอนหลายแห่งถูกทอดทิ้ง ไม่มีเหตุผลใดนอกจากชาวบ้านทิ้งบ้านเรือนหนีเข้าไปอยู่ในป่า
4. เมื่อ พ.ศ. 2247-2251 เมื่อเหตุการณ์ทางพม่าสงบลง ก็มีกองทัพแกว(เวียดนาม) และกองทัพลาวบุกเข้ามากวาดต้อนผู้คนเมืองน่าน และเมืองป้อ อีกครั้งหนึ่งด้วย
5. ผลกระทบของเมืองป้อได้รับจากฝ่ายพม่าอีกครั้งหนึ่งก็คือ พ.ศ. 2322 เมืองน่านขาดผู้ครองนคร กองทัพพม่าเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปไว้ในเมืองเชียงแสน ทิ้งเมืองให้เป็นเมืองร้าง จึงเป็นยุคที่เสื่อมโทรมอย่างยิ่ง

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเวียงป้อเป็นเมืองร้างนานถึง 15 ปี อำเภอเวียงสาขณะที่ยังไม่ได้สร้างเป็นเมืองหรือเวียงนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นเมืองหรือเวียง
โดยเจ้าผู้ครองนครน่านชื่อ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ คือหลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 15 ปี

สนง. เทศบาล ต.เวียงสา อดีตที่ว่าการ อ.สา ซึ่งในหลวงและพระราชินีเคยเสด็จมาประทับ
เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้กำหนดหลักเมืองป้อ ไว้ที่วัดศรีกลางเวียง
นับเป็นสิริมงคลของบ้านเมืองเวียงป้อ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2338 เจ้า ฟ้าอัตถวรปัญโญ ก็ได้สร้า้งปราสาทหอธรรม และพระพุทธรูป 1 องค์ไว้ที่วัดศรีกลางเวียง ส่วนหลักเมืองนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเป็นองค์พระเจดีย์ที่อยู่ลานทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหาร วัดศรีกลางเวียง ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่หลังโบสถ์ ในสมัยพระเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านสมัยนั้น ตรงกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครองกรุงรัตนโกสินทร์ ์นับเป็นเจ้าเมืองน่านที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อคนเมืองป้อเป็นอย่างยิ่ง โดยได้บูรณะเมืองป้อ ดังนี้
1. สร้างฝายน้ำสาขึ้นที่บ้านวังแข หมู่ที่ 3 ตำบลปงสนุก สร้างด้วยไม้ เรียกว่า ฝายไม้หัวล่อง
2. ท่านทรงเดินทางไปเมืองเชียงแสน รับเอาผู้คนชาวเมืองน่านที่ถูกพม่ากวาดต้อนไป กลับมาสู่เมืองน่าน
3. สร้างเวียงป้อขึ้นมาใหม่ หลังจากถูกทิ้งร้างไม่มีผู้คนอาศัยเป็นเวลาหลายสิบปี นับว่าท่านเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเป็นผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวง
แก่ชาวเมืองป้อเป็นอันมาก
4. การสร้างเมืองในสมัยนั้น ใช้ไม้แก่นฝังเป็นหลักสี่มุมเมือง ซึ่งเจ้าอัตถวรปัญโญได้กำหนดเมืองมีขนาดกว้างพันวาสี่แจ่ง (สี่มุม)
โดยยึดเอาวัดศรีกลางเวียงเป็นศูนย์กลาง คือ
        ทิศตะวันออก ถือเอาวัดพระบาท ถึง วัดศรีกลางเวียง 500 วา
        ทิศตะวันตก ถือเอาวัดมิ่งเมือง ถึง วัดศรีกลางเวียง 500 วา
        ทิศเหนือ ถือเอาวัดกลางเวียงไปเป็นระยะ 500 วา สร้างอะมอก (ป้อมปืนใหญ่) เหนือ
        ทิศใต้ นับจากวัดศรีกลางเวียงไปเป็นระยะ 500 วา สร้างอะมอกได้
5. ทำเลที่ตั้ง ทิศเหนือ อาศัยลำน้ำสาเป็นคูเมืองไปในตัว ทิศตะวันตกตลอดแนวถึงทิศใต้ ขุดลำเหมือง (คลองส่งน้ำ) เป็นคูเมือง (ปัจจุบันนี้ยังมีปรากฎอยู่) ส่่วนทางทิศตะวันออกอาศัยแม่น้ำน่านเป็นคูเมืองไปในตัวกำแพงเมือง ปรากฎมีซากบริเวณทุ่งนาศรีนวล (ดังแผนที่)

เวียงป้อ(เวียงสา) เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองน่าน ในการติดต่อเมืองแพร่ก็ผ่านเวียงป้อ ติดต่ออุตรดิตถ์ก็ผ่านเวียงป้อได้ทั้งทางบกและทางน้ำ
ยามใดมีข้าศึกมาทางเมืองแพร่ แม่ทัพเวียงป้อก็ออกต่อสู้อย่างกล้าหาญ เป็นที่เล่ากันว่า เมื่อเวียงป้อ
ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นเวียงสาตามชื่อของลำน้ำสา มีข้าศึกมารบ เจ้าเวียงสาออกสู้รบกับข้าศึกศัตรู ท่านถูกลูกอะมอกกลิ้งไปสามไ่ร่นา
ไ่ม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด กลับลุกขึ้นต่อสู้ข้าศึกจนกระทั่งตัวของท่านเป็นสีแดงด้วยเลือด
ข้าศึกพ่ายแพ้หนีไปสิ้น เมื่อเสร็จศึกก็ไม่สามารถแกะดาบออกจากมือของท่านได้ จำเป็นต้องต้มน้ำอุ่นล้างเลือดข้าศึกแล้วแกะดาบออกจากมือ
เจ้าเมืององค์นั้นคือ "เจ้าน้อยจันต๊ะวงสา" ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า "เจ้ามหาเทพวงษารัฐ"
เมื่อ พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นต้นตระกูล "วงษารัฐ" นับแต่นั้นมา แต่ชาวเวียงสามักเรียกติดปากทั่วไปว่า "เจ้าหลวงเวียงสา"

จนกระทั่ง พ.ศ. 2440 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเวียงป้อไปขึ้นกับแขวงบริเวณน่านใต้ ต่อมาถูกตั้งเป็น "กิ่งอำเภอเวียงสา" แล้วได้รับการยกฐานะเป็น "อำเภอบุญยืน" ในปี พ.ศ.2461

ปี พ.ศ.2482 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอบุญยืน อำเภอสา ก่อนเปลี่ยนเป็น อำเภอเวียงสา ในปี พ.ศ. 2526 ซึ่ง 2 ชื่อหลัง ตั้งตาม "ลำน้ำสา"
ลำน้ำสำคัญของอำเภอที่มีต้นสาขึ้นอยู่เต็ม

อ.เวียงสา เป็นดังประตูสู่เมืองน่าน เพราะถ้าจะเดินทางสู่น่านไปตามถนนสายหลักนั้น ต้องผ่าน อ.เวียงสาก่อน ซึ่งในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2501
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคเหนือ จากแพร่สู่ที่ว่าการอำเภอสา(ชื่อในขณะนั้น) ด้วยพระราชพาหนะรถจิ๊ป และโปรดเกล้าให้พสกนิกรเข้าเฝ้าฯ ณ หน้ามุขชั้น 2 ของที่ว่าการอำเภอสา จากนั้นจึงเสด็จฯ ต่อไปยังศาลากลางจังหวัดน่านในขณะนั้น (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน)

การเสด็จฯครั้งนั้นของ 2 พระองค์ นำความปลาบปลื้มปีติของชาวอำเภอเวียงสามาจนถึงทุกวันนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลทั่วไป
: อำเภอเวียงสา

คำขวัญ "ประตูสู่น่าน ตำนานชนตองเหลือง เมืองเจ็ดสายน้ำ งามล้ำวัดบุญยืน เริงรื่นแข่งเรือออกพรรษา บูชาพระธาตุจอมแจ้ง"

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดน่าน ก่อนถึงตัวอำเภอเมืองน่านห่างจากตัวจังหวัดน่านเป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101
(แพร่-ต่อเขตเทศบาลเมืองน่าน) อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เป็นระยะทาง 643 กิโลเมตร

อาณาเขต อำเภอเวียงสามีอาณา เขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านหลวง อำเภอเมืองน่าน อำเภอภูเพียง และอำเภอแม่จริม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้ ติดต่อกับอำภอนาน้อย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอร้องกวาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่

แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอเวียงสา

วัดบุญยืนพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน วัดบุญยืนเป็นพระอารามหลวง มีพระพุทธรูปยืนปาง เป็นพระประทานในพระอุโบสถ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าให้เป็นพระอารามหลวง มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม

วัดบุญยืน อ.เวียงสา จ.น่าน
วัดศรีกลางเวียง เป็นวัดเก่าแก่ คู่อำเภอเวียงสามายาวนาน มีความงดงามทางด้านศิลป ปูนปั้นประดับกระจกสี ที่วิจิตรสวยงาม
วัดศรีกลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน

สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯ ม. 3 ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสา เป็นสถานที่พักผ่อน เล่นกีฬา ออกกำลังกาย
สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ อ.เวียงสา จ.น่าน

หอชมวิวเทศบาลตำบลเวียงสา ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่าน โดยจากจุดสูงสุดของหอชมวิว สามารถมองเห็นทัศนียภาพภายในเขตเทศบาลตำบลเวียงสาได้

หอชมวิวเทศบาลตำบลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน

หนีร้อนไปเที่ยวป่าใกล้เมืองน่าน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรน่าน

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรน่าน จังหวัดน่าน
ท่องเที่ยวเชิงเกษตรน่าน จ.น่าน
การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม (Agrotourism) เป็นรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทย ที่จะท้าให้มีการกระจายรายได้เข้าไปยังท้องถิ่นอย่างแท้จริงด้วย การน้านักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนภาคเกษตรกรรม เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน และศึกษาหาประสบการณ์ ความรู้ในเรื่อง “เกษตรกรรม” ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้ง เกษตรกรรมแผนใหม่ เกษตรกรรมผสมผสาน หรือเกษตรกรรมทางเลือกที่ปลอดสารเคมีก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ที่มาจากสังคมเมือง หรือสังคม อุตสาหกรรม เมื่อได้เข้ามาสัมผัสกับสังคมเกษตรกรรม จะได้รับการพักผ่อนหย่อนใจ ความเพลิดเพลิน และในโอกาสเดียวกัน ก็จะได้รับความรู้ ประสบการณ์ที่แตกต่างจากชีวิตประจ้าวัน ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ สงบ เรียบง่าย อีกด้วย

การพักแรมในหมู่บ้านเกษตรกรรม(Homestay) ว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจ สามารถจะพัฒนาให้มีการจัดการที่เหมาะสม จะท้าให้การด้าเนินกิจกรรมดังกล่าว กระจายรายได้ไปสู่ชาวบ้านในชุมชนเกษตรกรรมได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม

การจัดการท่องเที่ยวแบบ Agrotourism
ในแนวคิดของวิทยากรได้เน้นชัดเจนว่า มิใช่เป็นแนวทางของ Eco-tourism หรือ Soft-tourism แต่อยู่ในเงื่อนไขความเป็นจริง ที่ว่า หากไม่ค้านึงถึงสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และระบบนิเวศแล้ว การด้าเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบนี้ก็จะท้าลายตัวของตัวเองลงอย่างแน่นอน

ความเป็นมาของการจัดการท่องเที่ยวแบบ Agrotourism ในประเทศเยอรมัน เกิดจากการที่ชาวชนบทในประเทศเยอรมัน ต้องการจะด้าเนินกิจกรรมบางอย่างที่รื้อฟื้นวัฒนธรรมเก่าแก่ขึ้นมาเพื่อความ ภาคภูมิใจภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้จัดเทศกาล งานละเล่นต่างๆแบบโบราณขึ้น เมื่อมีการจัดกิจกรรมต่างๆดังกล่าว ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าชม เกิดการเข้าพักแรม ในบ้าน หรือฟาร์มของตน นักท่องเที่ยวจากในเมืองซึ่งมีชีวิตแบบชุมชนเมือง มีความต้องการสัมผัสกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเป็นธรรมชาติ ต้องการเรียนรู้ในเรื่องการดูแลวัวและฟาร์ม ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวชนบท และการดูแลกิจการโคนมแล้ว ยังเป็นการพักผ่อนที่ดี เกิดความสบายใจ และ ประทับใจ ในความมีน้้าใจไมตรีของชุมชนชนบท อีกด้วย

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรน่าน จ.น่าน
แนะนำเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรน่าน

จังหวัดน่านเป็นเมืองที่ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และอุดมไปด้วยทรัพยากรภูเขา ป่าไม้ แหล่งต้นน้้าและธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่งชุมชนเกษตรที่แสดงให้เห็นถึงวิถีการด้าเนินชีวิตวัฒนธรรมขนบ ธรรมเนียมประเพณีและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทที่มีอยู่หลายเผ่าพันธุ์ และกิจกรรมการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรที่มีความหลากหลาย เช่น การท้านาข้าว การปลูกพืชไร่ สวนผลไม้ สวนสมุนไพร การเลี้ยงสัตว์ การประมง การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งจะผสมกลมกลืนกับธรรมชาติที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากไร่นา ดังนั้นการส่งเสริมท่องเที่ยวตามสถานที่ดังกล่าวนั้นจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ จะให้ความรู้ ให้ประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้จากการจ้าหน่าย สินค้า และค่าบริการในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นชนบทให้เกิดประโยชน์ และเป็นการช่วยแก้ปัญหาแรงงานที่ว่างงานสู่ชนบท ในสภาพที่เศรษฐกิจตกต่ำ

โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดน่น ทั้งหมด 4 แห่ง คือ

1. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านมณีพฤกษ์ บ้านมณีพฤกษ์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 11 ต้าบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งและเผ่าลั๊วะ สภาพภูมิประเทศที่ตั้งหมู่บ้านเป็นภูเขาสูง ตั้งอยู่ในระดับความสูงที่ 1,200 – 1,400 เมตร จึงมีสภาพอากาศหนาวเย็น มีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและประเพณีประจ้าของชนเผ่า อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ คือ การปลูกข้าวไร่ ปลูกกะหล่้าปลี ไม้ผลเมืองหนาว เช่น ท้อ , สาลี , พลัม อาชีพเสริมที่ใช้เวลาว่างทำ คือ ทอผ้าใยกันชง

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ชมดอก ชมพูภูคา ต้นเสี้ยวดอกขาว น้ำค้างแข็ง(แม่คะนิ้ง) ถ้ำผาผึ้ง น้ำตก จุดชมวิว ชมทะเลหมอก(ดอยผาผึ้ง)และสัมผัสบรรยากาศที่หนาวเย็น ในอดีตเคยเป็นสมรภูมิการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงมีทั้งที่ตั้งฐานปฏิบัติการของทหาร และำถ้ำที่หลบซ่อนของสหาย ซึ่งจะเที่ยวหาดูได้ในพื้นที่รอบๆหมู่บ้านมณีพฤกษ์นี้

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านมณีพฤกษ์ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านมณีพฤกษ์ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน
2. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านสันเจริญ บ้าน สันเจริญ หมู่ที่ 6 ต้าบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเมี่ยน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสวนยาหลวง หรือยอดภูสันในปัจจุบัน เดิมมีอาชีพปลูกฝิ่นบนดอยสวนยาหลวง ปัจจุบันชาวบ้านปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลิ้นจี่ ทดแทนฝิ่น โดยเฉพาะการปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้า ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตดี รายได้ต่อเนื่องกันหลายปี จึงพากันปลูกกาแฟ ทดแทนพืชไร่อื่นๆ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกาแฟบนภูสันมีประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งปลูกตามเชิงเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 – 1,000 เมตร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สวนยาหลวง มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี เกษตรกรรวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีการแปรรูปกาแฟ เป็นกาแฟผงสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย ชิมกาแฟสดจากไร่ การเก็บเกี่ยวกาแฟในไร่ และขึ้นไปชมทัศนีย์ภาพบนยอดดอยสวนยาหลวง ด้านวัฒนธรรมการเกษตรแบบดั้งเดิม คือการเก็บเกี่ยวข้าวไร่

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเช่น น้ำออกรู น้ำตกภูสัน การอนุรักษ์พันธุ์ปลา ต้นต๋าว รวมไปถึงการอนุรักษ์ผืนป่าของชาวบ้าน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าเมี่ยน

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านสันเจริญ อ.ท่าวังผา จ.น่าน

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านสันเจริญ อ.ท่าวังผา จ.น่าน
3. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตาบลเรือง ตำบลเรือง อ.เมือง ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองน่าน ประมาณ 5 กิโลเมตรมีลักษณะพื้นที่เป็นป่าไม้ ภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารและมีลำห้วยผ่านหลายสาย สภาพพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่ราบร้อยละ 30 พื้น ที่ดอนร้อยละ 10 พื้นที่ลาดเชิงเขาและภูเขาร้อยละ 60 ป่าห้วยหลวงมี เนื้อที่ไม่ต่้าว่า 15,000 ไร่ ซึ่งทางราชการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติสภาพ ป่าห้วยหลวงเป็นป่าดิบชื้น ประกอบด้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์ มีต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มากมาย เป็นอยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย เช่น เก้ง หมูป่า เลียงผา เป็นต้นชาวบ้านพึ่งพาป่าห้วยหลวงอย่างเข้าใจสามารถอนุรักษ์ป่าผืนนี้มาอย่าง ต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดการสวนเมี่ยง การหาอาหารป่า ตลอดจนยาสมุนไพร อาจกล่าวได้ว่า ป่าห้วยหลวงเป็นหม้อยาขนาดใหญ่ที่สามารถน้ามาบ้ารุงรักษาคนได้อย่างดี เต่าปูลู ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหายาก ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

วิถีชีวิตชาวตำบลเรือง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และเมี่ยงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ส้าคัญของต้าบลเรือง “ ต้นเมี่ยง คือ ต้นเงินต้นทองของชาวตำบลเรือง ” จากชื่อเสียงเกี่ยวกับความเข้มแข็งของชุมชน และศักยภาพด้านความอุดมสมบูรณ์ของป่า วิถีชีวิตของคน กับป่า ที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การการท่องเที่ยวจึงเน้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและอนุรักษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางธรรมชาติ กิจกรรมการเดินป่า เที่ยวชมน้ำตกดอยหมอก พักแรมค้างคืนสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดชิมอาหารป่า (หลามปลี หลามหวาย หลามผักกูด หลามยาสมุนไพร)

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรตำบลเรือง อ.เมือง จ.น่าน

เต่าปูลู ท่องเที่ยวเชิงเกษตรตำบลเรือง อ.เมือง จ.น่าน

4. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตาบลศิลาเพชร ตำบล ศิลาเพชร อ.ท่าวังผา เดิมชื่อเมืองล่าง ตั้งขึ้นโดย พญาภูคา เมื่อ ปี พ.ศ.1820 เป็นตำบลที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นต้นก้าเนิดของผู้ครองนครน่าน สามารถเดินทางเข้าสู่ต้าบลทางถนนสายปัว - บ้านน้้ายาว อยู่ห่างจากที่ว่าการอ้าเภอประมาณ 12 กม. เป็นถนนลาดยางตลอดเส้นทาง และสามารถเข้าสู่ตำบลได้อีก 2 ทาง คือทางต้าบลยม อ้าเภอท่าวังผา และทางอำเภอสันติสุข มีลักษณะที่ตั้งของต้าบลเป็นที่ราบติดกับเชิงเขา (ดอยภูคา) พื้นที่เป็นป่าไม้ ภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นแหล่งก้าเนิดของต้นน้้า ลำธารและที่มาของ น้าตกศิลาเพชร (ชื่อของต้าบล) น้าตกวังต้นตอง และเป็นเส้นทาง กิจกรรมการเดินป่า

ในแหล่งท่องเที่ยว ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยลื้อ ซึ่งมีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และประมง) จนเกิดมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสามพี่น้อง (โดยปราชญ์ชาวบ้าน) และแปลงไร่นาสวนผสม ที่ชนะเลิศในปี 2551 และปี 2552 ตามลำดับ จัดให้เป็นกิจกรรมฐานการศึกษาเรียนรู้ให้แก่นักท่องเที่ยว สำหรับงานด้านหัตถกรรมและการแปรรูปผลผลิต ได้มีการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ผลิตผ้าทอลายน้าไหลไทลื้อ ที่เป็นศิลปะการทอผ้าด้วยมือ และผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร กลุ่มผู้สูงอายุรวมกลุ่มท้าไม้ประดิษฐ์ เครื่องปั้นดินเผาหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ผืนที่นาจะแปรสภาพไปเป็นแปลงปลูกพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ เพื่อจ้าหน่ายและต้อนรับแขกผู้มาเยือน

ชุมชนไทลื้อ ท่องเที่ยวเชิงเกษตรศิลาเพชร
อ.ท่าวังผา จ.น่าน
ท่องเที่ยวเชิงเกษตรศิลาเพชร
อ.ท่าวังผา จ.น่าน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่่ : สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน โทร: 054-710246 แฟกซ์ 054-757278 Email: nan@doae.go.th